เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล

59

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล พร้อมเปิดสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) ได้จัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี พ.ศ. 2561 (International Migrants Day 2018) พร้อมทั้งจัดเสวนาในหัวข้อ “MIGRANT IS AROUND” แกะรอยแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย เราจะอยู่ในบทบาทไหนเมื่อแรงงานหมุนรอบตัวคุณ เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในรอบปีที่ ผ่านมาว่า นโยบายการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 มียอดแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,187,803 คน ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จในการปิดฉากมาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายสามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้นับตั้งแต่ปี 2535 อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อกังขาถึงความสำเร็จในการดำเนินการครั้งนี้ ทั้งในเรื่องการจัดการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่มีภาพความแออัด และความวุ่นวายในการดำเนินการ นอกจากนั้นยังพบว่ารัฐบาลมีการเสนอตัวเลขแรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพิสูจน์สัญชาติที่ไม่ตรงกัน และรัฐบาลไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งความไม่ชัดเจนในการนำเสนอตัวเลขของรัฐบาล ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจมีแรงงานข้ามชาติที่ตกหล่นและยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติมากถึง 811,437 คน ไม่ใช่จำนวน 132,232 คน ตามที่เป็นข่าว

“รัฐได้แถลงยืนยันว่าจะดำเนินการจับกุม ดำเนินคดีและส่งกลับกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ตามกำหนด และเริ่มมีข่าวการกวาดล้างจับกุมแรงงานมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไม่ได้ตรวจสอบสาเหตุของการที่แรงงานไม่สามารถเข้าถึงระบบการพิสูจน์สัญชาติได้ตามที่นโยบายได้ขีดเส้นตายไว้ โดยพบว่ามีชาวเมียนมามุสลิมพบกับอุปสรรคไม่สามารถผ่านการพิสูจน์สัญชาติได้ เพราะมีสาเหตุจากการไม่มีเอกสารจากประเทศเมียนมา เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และทางการเมียนมาไม่ออกเอกสารให้ ดังนั้นจึงมีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมส่งกลับ ซึ่งยังมีข้อกังขาถึงความปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มนี้ หากประเทศไทยมีการดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางจริง” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศร กล่าวว่า ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ อุบัติเหตุในการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศตามนโยบายของรัฐ ในช่วงปี 2561 มีการนำเสนอข่าวการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางขนส่งแรงงานข้ามชาติ อย่างน้อย 5 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเข้ามาทำงาน หรือเดินทางกลับไปยังชายแดน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยในการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เฉพาะในพื้นที่จังหวัดตาก ได้เกิดอุบัติเหตุไปแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่นำเข้ามาทำงานกับนายจ้างตามระบบ MoU เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล พร้อมเปิดสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ ระบุยังมีแรงงานไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติกว่า 8 แสนคน ซึ่งไม่ตรงกับตัวเลขของรัฐบาลที่มีเพียง 1 แสนคนเท่านั้น ขณะที่ตัวเลขแรงงานไทยทำงาน ตปท. 4 หมื่นคน ส่งเงินกลับไทยทะลุ 1.2 แสนล้านต่อปี พร้อมชง 8 ข้อเสนอ แก้ปัญหาแรงงาน

ส่วนเวทีเสวนา “แกะรอยแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย เราจะอยู่ในบทบาทไหนเมื่อแรงงานหมุนรอบตัวคุณ” งานวิจัยเผย แรงงานไทยในเกาหลีทะลุ 1.6 แสนคน ถูกกฎหมายแค่ 14 เปอร์เซ็นต์ ระบุคนภาคอีสานไปทำงานที่เกาหลีเยอะสุด เผยชะตากรรมแรงงานขึ้นอยู่กับนายจ้าง ชี้ความเหลื่อมล้ำในประเทศเป็นแรงผลักสำคัญ ขณะที่นักวิชาการเชื่อ แรงงานข้ามชาติช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจไทย แนะรัฐ หาจุดสมดุลระหว่างความมั่นคง – เศรษฐกิจในการเคลื่อนย้ายแรงงาน

ด้านนายจ้างไทยเรียกร้องรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำกัดนิยามคำว่า “ห้ามขายของหน้าร้าน” ใหม่เหตุเป็นช่องว่างให้เกิดการจับกุมแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนศิลปินจัดวางชื่อดัง อดีตแรงงานข้ามชาติ วอนให้โอกาสการจดทะเบียนการเกิด โอกาสทางการศึกษาจนจบปริญญาตรี สิทธิในการได้รับสัญชาติไทยของลูกหลานแรงงานข้ามชาติเพื่อประโยชน์ของไทยเองในอนาคต