งามศรัทธา “วัดเรือ” มหาสารคาม

164

สถาปัตยกรรมที่สวยงามอลังการ เปล่งแสงทองอร่าม เด่นสง่า เป็นภาพแรกที่ได้เห็นเมื่อมาเยือน “วัดหนองหูลิง” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดเรือ” แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้น คือความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ จากการรวมใจของพุทธศาสนิกชน จนให้วัดแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่หลายคนอยากมาเยือน

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เดิมทีวัดหนองหูลิง เป็นวัดเก่าแก่ของคนในท้องถิ่น ต.มิตรภาพ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม เดิมมีเพียงศาลาธรรมดาๆ ที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา และเป็นศูนย์ฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กๆ ในแถบนั้น เมื่อมีผู้คนเข้ามามากขึ้น ทำให้เกิดการรวมน้ำใจบริจาคสร้างอุโบสถขึ้น

วัดแห่งนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 10 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 10 ปี นอกจากความสวยงามของพระอุโบสถแล้ว ทั้งภายใน และภายนอกของพระอุโบสถยังได้แฝงคติเตือนใจชาวโลกมนุษย์ผ่านรูปปั้นต่างๆ อีกด้วย

ตัวอุโบสถมีความกว้าง 20 เมตร ความยาว 40 เมตร สูงประมาณ 30 เมตร ปัจจุบันใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ใครมามหาสารคามก็ไม่อยากพลาด

แรกได้เห็นความงดงามอลังการของตัวอุโบสถที่ก่อสร้างบนเรือ ก็พาให้สงสัย สืบค้นต่อไปได้ความว่า การสร้างอุโบสถทรงเรืออนันตนาคราช เป็นการก่อสร้างที่สอดแทรกปริศนาธรรม บอกเล่าเรื่องราวการสติให้กับมนุษย์ จากแรงบันดาลใจว่าที่ว่ามนุษย์ยามเกิดมาก็เหมือนการลอยคอในมหาสมุทร

เรือซึ่งเปรียบเสมือนกับรถซึ่งพามนุษย์ขึ้นฝั่ง มีทางขึ้นทางลง คือ อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของบุคคลมี 4 องค์ คือ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ส่วนในด้านความทุกข์ เมื่อคนเราเกิดมาต้องมีทุกข์ ทุกข์ของคนเรามี 2 ประเภท ประเภทที่ 1 คือ ทุกข์ประจำ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ประเภทที่ 2 คือ ความโศกเศร้า สมุทัย คือ ความจริงว่าด้วยเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ความทะยานอยากมี 3 ประการ คือ กาม ตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

นิโรจน์ คือ ความจริงว่าด้วยการดับทุกข์ หมายถึงการดับ และการละตัณหา มรรค คือ ความจริงว่าด้วยวิถีทางแห่งความดับทุกข์ ส่วนรูปปั้นที่เป็นหงส์ที่ท้ายเรือ เปรียบเสมือนการประคับประคองให้ไปตลอดรอดฝั่ง ไปสู่สรวงสวรรค์ และนิพพาน

เมื่อจะเข้าโบสถ์ต้องลอดใต้พระราหุลเพื่อให้พระราหุลกลืนกินสิ่งไม่ดีในตัวเรา ประตูที่เล็กและต่ำจะทำให้เราต้องรู้จักนอบน้อมถ่อมตน และเมื่อเงยหน้าขึ้นก็จะเห็นพระประธานปรางค์ประถมเทศนาศิลปะแบบทวารวดีอยู่ตรงหน้า

ด้านข้างเป็นรูปพญานาค ทางที่จะดับทุกข์ได้ คือ มรรค 8 หรืออริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐนั้นยังมีทางเดียว แต่องค์ประกอบมี 8 ประการ มรรคมีองค์ 8 ย่อแล้วเรียกว่า “ไตรสิกขา” ซึ่งได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา นั้นซึ่งแปลว่าคุณประโยชน์ของอริยสัจ 4 ก็คือ สอนให้เราไม่ประมาท สอนให้เราด้วยปัญหาและเหตุและผล สอนให้เราแก้ปัญหาด้วยตนเอง สอนให้เราเห็นสิ่งต่างตามความเป็นจริง ทางเข้าเรียกว่าประตูความดี

เชื่อไหมว่าความสวยงามอลังการที่เราเห็นอยู่นี้ นอกจากจะมาจากรวมกำลังทรัพย์จากญาติโยมทั้งหลายแล้ว ยังก่อสร้างโดยช่างในชุมชนเองอีกด้วย

งดงาม อลังการ ยิ่งได้ปีนหอระฆังขึ้นไปชมให้เต็มตาก็ยิ่งอิ่มเอมใจ  เรือแห่งความศรัทธา และความดีงามนี้ เป็นอีกจุดท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงมหาสารคาม

มาร่วมชมความงดงาม และตั้งคำถามในใจ ภายใต้ปริศนาธรรมที่รายล้อมให้ชวนสงสัย

โชคดีที่วันนั้นฟ้าเป็นใจยิ่งนัก เราจึงได้เห็นแสงสีทองส่องประกายตัดกับท้องฟ้าที่สดใส ได้งดงามยิ่งขึ้น