หนุนโมเดล Happy Workplace เสริมสุขภาพกายใจให้คนทำงาน

44

คนเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตในการทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและครอบครัว ใครที่ได้ทำงานในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงานก็นับว่าโชคดี แต่จากการสำรวจพบว่า คนทำงานในปัจจุบัน ต้องพบกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งด้านสุขภาพของร่างกาย และความเครียด ก่อให้เกิดโรคต่างๆ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม

ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการ สมอ. องค์กรแห่งความสุข”

นายธนะ อัลภาชน์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 2 รักษาราชการแทนรองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า “โครงการ สมอ. องค์กรแห่งความสุข” ว่าจากผลการสำรวจคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากร สมอ. เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่า สุขภาพทางกายของข้าราชการและบุคลากร สมอ. ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 60.8) มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในช่วงภาวะน้ำหนักเกิน และยังพบอีกว่าบุคลากรของ สมอ. มีโรคประจำตัวอยู่เกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 30.1) โรคประจำตัวที่พบส่วนใหญ่ คือ ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง รองลงมา ได้แก่ เบาหวาน โรคหัวใจ และภูมิแพ้

ในส่วนพฤติกรรมการบริโภค พบว่า มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53.5) มีการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ผัด ทอด ใส่กะทิ เบเกอรี่ เกือบเป็นประจำ โดยมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่มีพฤติกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมใช้เวลาแต่ละครั้งมากกว่า 30 นาทีขึ้นไปเป็นประจำ ดังนั้น สมอ. จึงตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีของบุคลากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จของหน่วยงานตามภารกิจ จึงร่วมกับ สสส. และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ จัดทำ “โครงการ สมอ. องค์กรแห่งความสุข” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินโครงการในระยะแรกด้วยกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้เลยทันทีในสถานที่ทำงาน คือ 1. การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ผ่านการส่งเสริมการออกกำลังกาย แบบง่ายๆ ในพื้นที่ทำงานด้วยท่าออกกำลังกายต่างๆ ที่ถูกต้อง และเสริมด้วยการมีชมรมกีฬาที่จัดตั้งขึ้นแล้ว ได้แก่ ชมรมแอโรบิค โยคะ แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส ซึ่งมีสมาชิกรวมกันมากกว่า 200 คน และจะขยายชมรมเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกคนในหน่วยงาน 2. การดูแลอาหารว่างสุขภาพในการจัดประชุม ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคและสะดวกในการเตรียมอาหารอีกทางหนึ่งด้วย โดยทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของข้าราชการและบุคลากร ในการรองรับการปฏิรูปประเทศไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติในขณะนี้

 นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. โดยแผนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ได้ริเริ่มแนวคิดองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) มาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นำแนวคิด Happy Workplace จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรหรือไปเป็นนโยบายขององค์กร เพื่อพัฒนาสุขภาวะของบุคลากรที่เป็นทั้งข้าราชการและพนักงาน รวมไปถึงลูกจ้างประจำและอื่นๆ ครอบคลุมในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาวะทางสังคม รวมไปถึงการให้ทักษะการจัดการด้านการเงิน กว่า 10,000 แห่ง โดยเป็นการสร้างความตระหนักและเสริมความรู้ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาวะเชิงป้องกันเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น ความเครียด อุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับงาน โรคที่เกิดจากการทำงาน โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มีสาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ อาทิ บริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เช่น อาหารหวาน มัน เค็ม การออกกำลังกายไม่เพียงพอ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรในภาครัฐให้ดีขึ้น

ดร.ศิริเชษฐ์  สังขะมาน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า จากผลการศึกษาสถานการณ์และแนวโน้มคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรภาครัฐระยะเวลา 3 ปี ด้วยแบบสำรวจองค์กรสุขภาวะ (CU-QWL) ตั้งแต่ปี 2558-2560 พบว่า บุคลากรภาครัฐมีแนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาด้านภาวะโภชนาการเกินกว่าร้อยละ 50 โดยเฉพาะการมีภาวะเสี่ยงต่อโรคมีอยู่เกือบร้อยละ 10 รวมทั้งมีพฤติกรรมบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงเพิ่มขึ้นด้วย จากร้อยละ 40.6 ในปี 2558 เป็น 54.8 ในปี  2560

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบปัญหาความเครียดที่เกิดจากการทำงาน พบว่า กลุ่มผู้ที่มีความเครียดบ่อยถึงเป็นประจำ มีถึงร้อยละ 20 ซึ่งสอดคล้องการมีโรคประจำตัวเกิดจากการทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ โรคไมเกรน ความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 38-53 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบอีกว่า การมีเวลาทำกิจกรรมส่วนตัวในระดับน้อยถึงน้อยที่สุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.5 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 21.6 ในปี 2560 ดังนั้น สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพร้อมทำงานกับ สสส. และ สมอ. เพี่อสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดการคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรอย่างเหมาะสมในแต่ละส่วนงาน