บอร์ด สปสช. แก้ปัญหา “งบกองทุนรักษา อปท.ไม่พอ” ลุ้นอนุมัติงบกลางเพิ่ม 2.5 พันล้านบาท

44

 

บอร์ด สปสช.รับทราบแก้ปัญหา “งบกองทุนรักษา อปท.ไม่พอ” ลุ้นอนุมัติงบกลางเพิ่ม 2.5 พันล้านบาท

บอร์ด สปสช.รับทราบความคืบหน้าแก้ปัญหา “งบกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ไม่เพียงพอ” ลุ้นสำนักงบฯ อนุมัติงบกลางหนุนปี 60 เพิ่มเติม 2.5 พันล้าน หลัง อปท.ทำเรื่องเสนอสำนักงบฯ ขณะที่ คกก.กระจายอำนาจฯ เตรียมพิจารณาอนุมัติงบรักษาพยาบาล อปท. ปี 61 เพิ่มเติม 3 พันล้านบาท 10 ส.ค.นี้ ด้าน “หมอปิยะสกล” เตรียมหารือนายกรัฐมนตรี หากการแก้ปัญหาไม่คืบ

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานกรณีงบค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่เพียงพอ ภายหลังจากการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ได้มอบให้ สปสช.ประสานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานในวันนี้

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนงบค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ อปท.ที่ไม่เพียงพอนั้น ได้ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสปสช. รวมถึง 12 สมาคม/สมาพันธ์ อปท.ที่ร่วมลงนาม ติดตามการของบกลางและให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของบกลาง ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือเสนอของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,500 ล้านบาท ไปยังสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขระยะสั้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวในงบประมาณตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ พิจารณากำหนดแนวทางการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นตามข้อมูลข้อเท็จจริง และจากการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลังและงบประมาณ ภายใต้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ได้รับทราบปัญหาและมีมติเห็นชอบเสนอให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ สำรองเงินอุดหนุนรายการเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่และภารกิจการถ่ายโอน 3,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 6,991.81 ล้านบาท และจะนำต่อคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ในวันที่ 10 ส.ค.นี้

ขณะที่ในส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน อปท.ที่ได้มอบให้ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนนั้น ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางเพื่อหารือกับนักวิชาการ และอาจเชิญนักวิชาการดำเนินการเพื่อร่วมวิจัย

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุน อปท.จึงได้มอบ สปสช. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมพิจารณาเพื่อปรับปรุงข้อตกลงเพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้นำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ การทดรองจ่าย วัตถุประสงค์ของเงินค่าบริหารจัดการ และองค์ประกอบคณะกรรมการ ซึ่งจะมีการนำเสนอต่ออนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ อปท. ในวันที่ 30 สิงหาคม นี้

“วันนี้เป็นการรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหางบประมาณกองทุน อปท.ที่ไม่เพียงพอ และขอให้นำความคืบหน้าการแก้ปัญหาเพิ่มเติมมารายงานต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป หากยังไม่มีความคืบหน้าของงบประมาณที่จะมาอุดหนุนอาจต้องยื่นหนังสือทวงถามและนำหารือต่อนายกรัฐมนตรี เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปคงส่งผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่การบริหารจัดการที่ดี” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ทั้งนี้การรักษาพยาบาลพนักงานและลูกจ้าง อปท.ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะบริหารค่ารักษาพยาบาลตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละแห่ง ซึ่งมีจำกัด จึงทำให้ อปท.หลายแห่งมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา ในปี 2555 รัฐบาลขณะนั้นจึงมีนโยบายให้ สปสช.เข้าบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานและลูกจ้าง อปท. โดยรวมเป็นกองทุนบริหารความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา และได้มีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นนอกจากทำให้พนักงานหรือลูกจ้าง อปท.เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ปี 2558 กองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท.เริ่มมีปัญหาติดลบ โดยปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560 ด้วยอัตราการรับบริการและการเบิกจ่ายค่าบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกิดผลกระทบต่องบประมาณกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ในปี 2560 และปีต่อไป จึงต้องมีการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้