“ตุ๊กตุ๊ก” ความสนุกเที่ยวไทย กับโอกาสใหม่ในกัมพูชา

332

หากอยากจะมีประสบการณ์ในกรุงเทพให้ถึงรสถึงเครื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่บอกว่า ต้องลองกินอาหารข้างทาง (Street Food) และใช้บริการรถสามล้อเครื่อง หรือ ตุ๊กตุ๊ก ส่วนการใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้าง อาจจะเป็นกิจกรรมที่แอดเวนเจอร์ที่เสี่ยงไปหน่อย 

รถสามล้อเครื่อง หรือ ตุ๊กตุ๊ก ไม่ได้เกิดขึ้นที่แรกในเมืองไทย และไม่ได้มีเฉพาะในเมืองไทย แต่กลายเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดเมื่อนึกถึงเมืองไทย ด้วยสีสันและลีลาของตุ๊กตุ๊กไทยที่กึ่งสนุกกึ่งเร้าใจ แอบผิดระเบียบและขัดใจมาตรฐานการเดินทางไปสักหน่อย ด้วยตัวรถที่เน้นเปิดโล่งมองเห็นข้างทางได้เต็มตาระยะประชิด ไร้เข็มขัดนิรภัยทำให้เคลื่อนย้ายร่างกายได้ตามใจ ปริมาณผู้โดยสารที่ไม่จำกัด อัดกันเข้าไป เป็นเหมือนการปลดล็อกให้อิสรภาพได้โลดแล่น แม้จะต้องทนกับกลิ่นต่างๆ บนท้องถนน แต่นี่คือประสบการณ์ที่หลายคนไม่อยากพลาด

รถตุ๊กตุ๊ก มีกำเนิดในอิตาลี มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 และขยายความนิยมไปในวงกว้าง โดยเฉพาะแถบเอเชีย ตุ๊กตุ๊กในเมืองไทย เกิดจากการดัดแปลงสามล้อเครื่องแบบกระบะบรรทุกจากญี่ปุ่น มาเป็นรถโดยสาร แทนรถสามล้อถีบ ที่ห้ามวิ่งในกรุงเทพ ในปี พ.ศ.2503 จากนั้นญี่ปุ่นก็ทำรถตุ๊กตุ๊กจำหน่ายในเมืองไทย หลากหลายยี่ห้อ ทั้ง ฮอนด้า ไดฮัทสุ ฮีโน่ มาสด้า มิตซูบิชิ โดยนิยมใช้และจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในย่านเยาวราช

ตุ๊กตุ๊กในอินเดีย (ภาพ pixabay)

ตุ๊กตุ๊กในเมืองไทย ได้ขยายความนิยมในยังต่างจังหวัด พร้อมหน้าตาที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ยังเอกลักษณ์ด้วยสีสันสดใส ขณะที่รถตุ๊กตุ๊กในต่างประเทศ ก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่นในอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสีเขียวเหลืองหรือสีเขียงดำ ส่วนอียิปต์จะมีสีดำ บังคลาเทศเป็นสีเขียว

รถตุ๊ก ๆ ในแต่ละประเทศมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ที่เอกวาดอร์เรียกว่า Mototaxi ที่ศรีลังกาเรียก Three-wheeler ที่บังกลาเทศเรียก Baby taxi ขณะที่คิวบาเรียก Coco Taxi เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายลูกมะพร้าว (Wikipedia)

ตุ๊กตุ๊กในอียิปต์ (ภาพ pixabay)

ปัจจุบันตุ๊กตุ๊กในเมืองไทยที่จดทำเบียนกับกรมขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 22,000 คัน ราคาหลักหลายหมื่นจนถึงหลักแสน

เพื่อนบ้านของเราอย่าง “กัมพูชา” หรือ “เมียนมาร์” มีการใช้รถสามล้อเครื่องกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน ล่าสุด GLF บริษัทในเครือกรุ๊ปลีส ประเทศกัมพูชา ผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการให้บริการด้านการเงินแก่ลูกค้ารถจักรยานยนต์ฮอนด้าในประเทศกัมพูชา ประกาศความร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายของ บาจาจ กัมพูชาเพื่อขยายตลาดรถสามล้อ

นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน)  ประกาศในวันนี้ว่า GLF บริษัทในเครือกรุ๊ปลีส กัมพูชา ได้บรรรลุข้อตกลงกับตัวแทนจำหน่ายของบริษัทบาจาจในประเทศกัมพูชา โดย GLF เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถสามล้อ ทั้งที่เป็นรถใหม่และรถมือสองในตลาดดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 บริษัทกรุ๊ปลีส เมียนมาร์ได้ประกาศเป็นคู่ค้ากับผู้จัดจำหน่ายของบาจาจในประเทศเมียนมาร์ในการจำหน่ายรถสามล้อ ซึ่งมีลูกค้าจำนวน 130 ราย จากตัวแทนจำหน่ายเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น บริษัทกรุ๊ปลีส เมียนมาร์มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนผู้แทนจำหน่ายมากขึ้นในปีนี้

รถสามล้อในกัมพูชา (ภาพ pixabay)

“การขยายความร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้เป็นผลมาจากความสำเร็จที่เรามีกับบาจาจในประเทศเมียนมาร์ ที่แสดงถึงความสามารถของเราในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในตลาดใหม่ๆและใช้ความเชี่ยวชาญในการนำผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดอื่นๆ เช่นเดียวกับการขยายธุรกิจไปทั่วทั้งตลาดอาเซียน เราจะยังดำเนินการสร้างการเติบโตและดำเนินงานตามพันธกิจของเราในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อช่วยธุรกิจของเขาให้เติบโต” นายโคโนชิตะ กล่าว

ด้าน นายริกิ อิชิกามิ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GLF กล่าวว่า “ความต้องการรถสามล้อในประเทศกัมพูชานั้นมีสูงมาก รถตุ๊กตุ๊กเพิ่มจำนวนอย่างเห็นได้ชัดทั้งในพนมเปญและทั่วประเทศกัมพูชา เนื่องจากรถตุ๊กตุ๊ก สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งที่เป็นกลุ่มบุคคลและรายบุคคลด้วยความรวดเร็ว คล่องตัว และด้วยราคาที่เข้าถึงได้ การให้บริการสินเชื่อของ GLF ช่วยให้เจ้าของรถตุ๊กตุ๊ก สามารถสร้างรายได้ถึงประมาณวันละ 800 บาท ในขณะที่การชำระสินเชื่อวันละประมาณ 150 บาทเท่านั้น

นับเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้เข้าสู่ตลาดที่กำลังเติบโตเช่นนี้ อีกทั้งมีโอกาสนำเสนอบริการที่ดีให้กับตลาด และที่สำคัญคือการเข้าร่วมทำธุรกิจกับตัวแทนจำหน่ายที่มีความสัมพันธ์กับผู้ผลิตเช่น บริษัทบาจาจ กัมพูชา โดยแต่เดิมมีตัวแทนจำหน่าย 22 ราย มียอดจำหน่ายรถตุ๊กตุ๊ก ประมาณ 2,000 คันต่อเดือน ราคาเฉลี่ยคันละ 110,000 บาท ถึง 120,000 บาท และเมื่อ กรุ๊ปลีสและบาจาจ ร่วมมือกันเราหวังที่จะเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป”

บริษัท บาจาจ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถสามล้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดการผลิต 1 ล้านคัน ต่อปี มีการจัดจำหน่ายใน 36 ประเทศ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 96% ของการจำหน่ายรถสามล้อในอาเซียน บาจาจในประเทศกัมพูชามียอดจำหน่ายกว่า 2,000 คันต่อเดือน และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตุ๊กตุ๊กอาจจะเป็นแค่รถนอกสายตาของใครหลายคน แต่มันคือเสน่ห์ที่เพิ่มเติมจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะในเมืองไทยที่สร้างชื่อให้ตุ๊กตุ๊กเป็นที่รู้จักและหลงรักตุ๊กตุ๊กมาอย่างต่อเนื่อง และพีคสุดตอนนำไอเดียรถตุ๊กตุ๊กเป็นแนวคิดในการออกแบบชุดประจำชาติในเวทีประกวด Miss Universe

ตุ๊กตุ๊ก เต็มไปด้วยเรื่องน่ารัก และเป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนในหลายๆ ประเทศ แต่ไม่รู้ว่า เรื่องการต่อรองราคาของที่ไหนจะเข้มข้นกว่ากัน

ถ้ามีการประกวดประชันเรื่องการต่อรองราคาค่าโดยสาร ตุ๊กตุ๊กไทยมีลุ้นแน่นอน