เด็กกับการเล่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทราบดีว่า ควรให้เด็กๆ ใช้ชีวิตและเล่นในสถานที่ที่ปลอดภัย แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่า วัสดุหรือสถานที่หลายแห่ง เป็นตัวการก่อพิษตะกั่วในเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิด “โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว” ที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม 1 ในโรคร้ายแรงที่มีปัญหาต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก เพราะเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ได้ถึง 5 เท่า
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดตัวการรณรงค์และประชาสัมพันธ์โครงการสาธารณสุขห่วงใย ร่วมพัฒนากายใจวัยเด็ก “เด็กฉลาด ปลอดภัย ห่างไกลสารตะกั่ว” เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับครอบครัวและเป็นของขวัญวันเด็กให้กับเด็กไทยทั่วประเทศปลอดภัยห่างไกลจากตะกั่ว ซึ่งโครงการนี้จะมีการดำเนินการทั่วประเทศ โดยในวันที่ 11 มกราคม 2562 ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร หนึ่งในพื้นที่ที่ตรวจพบว่าเด็กมีตะกั่วในเลือดสูง
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว” เป็น 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาสูงถึงปีละกว่า 600,000 คน และระบุว่าไม่มีปริมาณการได้รับสารตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากเด็กได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายและระดับสติปัญญา โดยเฉพาะสมอง ทำให้พัฒนาการทางสมองช้า ถ้าได้รับในปริมาณสูงจะมีผลต่อสมอง ตับ และไต ทำให้มีอาการซีด ชัก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายเด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า ปัจจัยที่สำคัญคือ เด็กมีพฤติกรรมซึ่งเพิ่มโอกาสการรับตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย เช่น การคลาน การเล่นตามพื้นดินที่ปนเปื้อนด้วยตะกั่ว เช่น สีที่ลอกหลุดและปะปนอยู่กับฝุ่นภายในบ้านและโรงเรียน ของเล่นที่มีการทาสีและหลุดลอกของสี เป็นต้น หรือการได้รับจากเสื้อผ้าเปื้อนฝุ่นตะกั่วของผู้ปกครอง และการใช้ตะกั่วในบริเวณบ้าน
สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่วในเด็ก 1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมสารตะกั่ว เช่น สีน้ำทาภายในอาคาร ของเล่นเด็ก ที่ได้มาตรฐาน มอก. 2. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ หรือของเล่นเด็กด้วยผ้าชุบน้ำเป็นประจำ หากสีถลอก หลุดออกมาควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน 3.ควรให้เด็กล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากคลานตามพื้น วิ่งเล่นนอกสนาม 4.ควรส่งเสริมให้เด็กรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง ไขมันต่ำ เช่น นมจืด วันละ 2 กล่อง ไข่วันละ 1 ฟอง 5.หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กไปบริเวณที่มีสารตะกั่ว เช่น บ่อเผาขยะ ร้านคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และ 6.หากสังเกตพบอาการผิดปกติของเด็ก เช่น ซีดมาก ชัก ปวดท้อง พัฒนาการช้า ควรปรึกษาแพทย์ทันที
ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่าในวันนี้ กรมควบคุมโรค สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เพื่อเปิดตัวโครงการสาธารณสุขห่วงใย ร่วมพัฒนากายใจวัยเด็ก “เด็กฉลาด ปลอดภัย ห่างไกลสารตะกั่ว” ณ โรงพยาบาลสมุทรสาคร มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วย ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง โดยมีกิจกรรม ดังนี้ บูธการเจาะคัดกรองหาสารตะกั่วในเลือดของเด็กแรกเกิด-5 ปี บูธกิจกรรมวัดระดับสติปัญญา และบูธการ x-ray ของเล่นเด็กหาสารตะกั่วที่ปนเปื้อน ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ จากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
โครงการนี้ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากสารตะกั่ว ช่องทางการสัมผัส และ แนวทางการป้องกันให้เด็กไทยปลอดภัย และห่างไกลจากสารตะกั่วที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน และมีการรวบรวมสถานการณ์และจัดทำฐานข้อมูลการสัมผัสสารตะกั่วในเด็ก ซึ่งจะส่งผลให้เด็กไทยมีสุขภาพดี มีสติปัญญา พัฒนาการทางร่างกายและสมองที่สมวัย หากประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครองที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2590 3866