ชวนจิตอาสาค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อน “รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันความพิการ”

152

การรู้เท่าทันโรคเป็นหนทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพที่ดีของเรา แต่นอกจากการป้องกันแล้ว การคัดกรองผู้ป่วยด้วยการตรวจสุขภาพ รวมทั้งการได้พบผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ จะนำพาสู่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสหายสูง อย่างเช่นโรคเรื้อน ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงแรก  โดยล่าสุด กรมควบคุมโรค ประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นจิตอาสาในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในชุมชน โดยย้ำ “โรคเรื้อนรักษาหาย รู้เร็วรักษาทัน ป้องกันความพิการได้”

สถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค จัดกิจกรรมรณรงค์ “จิตอาสาทำดีด้วยหัวใจ ร่วมค้นหาผู้ป่วยใหม่ในชุมชน” เนื่องในวันราชประชาสมาสัย เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสร้างความตระหนัก ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน และร่วมกันเป็นจิตอาสาในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ให้รีบออกมารับการรักษาโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดความพิการ ทั้งนี้เพื่อสนองพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการให้ประชาชน    ได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และช่วยเหลือสังคม

วันนี้ (16 มกราคม 2562) ที่สถาบันราชประชาสมาสัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ศาตราจารย์นายแพทย์ธีระ รามสูต  ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายแพทย์ อาจินต์ ชลพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย ร่วมงานรณรงค์ “จิตอาสาทำดีด้วยหัวใจ ร่วมค้นหาผู้ป่วยใหม่ในชุมชน”ภายในงาน มีกิจกรรม พิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ การฉายวิดีทัศน์การทำงานของจิตอาสา การจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ อาทิ การตรวจสุขภาพฟันช่องปากฟรี  การแจกของที่ระลึก และฟรีค่าบริการทางการแพทย์

นายแพทย์ธีระ กล่าวว่า โรคเรื้อน เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเห็นถึงปัญหา และทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกร ซึ่งสมัยก่อนนั้นยังไม่มียารักษาโรคเรื้อนที่ได้ผลดี ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อนและครอบครัว ต้องหลบซ่อนตัว พระองค์ท่านได้พระราชทานทุน“อานันทมหิดล” ให้จัดสร้างสถาบันราชประชาสมาสัย และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับโครงการควบคุมโรคเรื้อนเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ด้วยทรงมีพระราชปณิธานกำจัดโรคเรื้อนให้หมดไปจากประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยสามารถกำจัดโรคเรื้อนจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข นับเป็นความสำเร็จที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันสนองพระราชปณิธานสืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยนับแสนคนที่หลบซ่อนหรือไม่รู้ว่าตนเองป่วยได้รับการตรวจรักษาโรคจนหายขาด ผู้พิการได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมูลนิธิฯ ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันราชประชาสมาสัย มีการจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนและครอบครัว มูลนิธิเล็งเห็นความสำคัญของการเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ จึงได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อน และอาสาสมัครผู้ค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อน รายละ 3,000 บาท โดยจ่ายให้กับผู้ป่วยทั้งหมดหากเกิดความตระหนักและมาแสดงตัวรับการรักษาด้วยตนเอง  และในกรณีอาสาสมัครเป็นผู้นำพามารับการรักษา อาสาสมัครจะได้รับเงินจำนวน 1,000 บาท และผู้ป่วยได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท

ส่วนนายแพทย์อาจินต์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ยังคงมีอยู่คือสัดส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่มีความพิการยังไม่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งสะท้อนถึงการที่ผู้ป่วยมารับการรักษาล่าช้า สำหรับในปี 2562  ได้กำหนดอำเภอเป้าหมายที่มีข้อบ่งชี้ทางระบาดวิทยาโรคเรื้อน ในการเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ จำนวน 102 อำเภอ ใน 42 จังหวัด โดยมีแนวทางการดำเนินกิจกรรมค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในอำเภอเป้าหมาย ให้สามารถค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ และผู้ป่วยที่หลงเหลือในชุมชนให้ได้เร็วที่สุด และในวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการก่อตั้งสถาบัน ในวันนี้จึงถือโอกาสอันเป็นมงคล ทำพิธีเปิดอาคารอาชีวเวชศาสตร์อีกด้วย ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายงานด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาระบบบริการให้ทันสมัย รวดเร็วตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการมากยิ่งขึ้น

หากประชาชนสงสัยว่าตนเองเป็นโรคเรื้อน หรือสังเกตเห็นผิวหนังเป็นวงด่าง ชา ผื่น หรือตุ่มแดง ไม่คัน ใช้ยากิน ยาทานานเกิน 3 เดือนแล้วยังไม่หาย ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และขอเชิญชวนประชาชน ร่วมเป็นจิตอาสาในการเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนในชุมชมของตนเอง ให้รีบออกมารักษาเมื่อเกิดความผิดปกติทางผิวหนัง รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้จิตอาสา ได้ช่วยติดตามค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ป่วยที่หลงเหลือ ให้ออกมารักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันความพิการ นำไปสู่การกำจัดโรคเรื้อนได้สำเร็จและยั่งยืน

ข้อมูลจาก ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความรู้ไว้ว่า โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันมานาน คนทั่วไปมักมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนที่เป็นโรคนี้อาจจะเป็นเพราะความเชื่อเก่า ๆ ที่ว่า คนเป็นโรคเรื้อนเพราะประพฤติตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ขัดต่อข้อห้ามทางศาสนาหรือประเพณีต่าง ๆ แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นดังความเชื่อเหล่านั้น เพราะโรคเรื้อนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียตระกูลเดียวกับวัณโรค แต่อาการจะไม่รุนแรงเฉียบพลันจนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้ อย่างวัณโรค ตรงกันข้างกลับมีอาการลุกลามอย่างช้า ๆ จนในระยะหลังทำให้เกิดความพิการที่มือ เท้า ใบหน้า และใบหู ทำให้เป็นที่รังเกียจแก่คนทั่วไป หากมารับการรักษาเสียแต่ในระยะเริ่มแรก โรคเรื้อนก็สามารถหายได้ง่าย และไม่ก่อให้เกิดความพิการดังกล่าว

สาเหตุที่ผู้ป่วยไม่มารับการรักษา

อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้หรือหลายปัจจัยร่วมกัน คือ

– ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรค เนื่องจากผื่นในระยะแรก มักมองเห็นได้ไม่ชัดเจน และไม่มีอาการเจ็บหรือคัน หากเกิดผื่นในตำแหน่งที่ผู้ป่วยมองไม่เห็นเช่นที่หลังหรือที่ก้น ก็จะไม่มารับการรักษา

– ไม่กล้ามารับการรักษาเพราะเกรงว่าผู้อื่นจะรู้ว่าเป็นโรคเรื้อน และจะเป็นที่รังเกียจหรือถูกไล่ออกจากงาน

สาเหตุของการเกิดโรค

เชื้อโรคเรื้อนเป็นมัยโคแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคเฉพาะในคนหรือสัตว์บางชนิด เช่น ตัวนิ่มเก้าลาย และลิงบางชนิด เท่านั้น หากเชื้อโรคเรื้อนออกมานอกตัวคนและสัตว์มันจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในธรรมชาติ ทางที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายคนยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าอาจจะเกิดจากการหายใจและไอจามรดกันเช่นเดียวกับวัณโรค เพราะผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีอาการมากจะมีเชื้อโรคอยู่ในจมูกได้ นอกจากนี้อาจเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ที่จริงแล้วเชื้อโรคเรื้อนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในคนได้ง่ายนัก เนื่องจากเชื้อมีความรุนแรงไม่มาก หากผู้ที่ได้รับเชื้อมีสุขภาพแข็งแรงจะมีภูมิคุ้มกันโรคดี และไม่เกิดอาการของโรค ผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อและเป็นโรคเรื้อนมักจะต้องอยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นระยะเวลานาน

อาการของโรคเรื้อน

เชื้อโรคเรื้อนจะก่อให้เกิดอาการของโรคที่ผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย การอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย จะทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมด้วยเส้นประสาทเส้นนั้นฝ่อลีบไป ทำให้มือเท้าหงิก และกุดได้ในระยะท้ายของโรค ที่จริงแล้วในระยะแรกของโรคมักจะมีผื่นจำนวนเล็กน้อย ผู้ป่วยระยะแรกเริ่มบางรายมีผื่นเพียงแห่งเดียว ซึ่งหากรักษาเสียตั้งแต่ในระยะนี้ก็จะหายสนิท และไม่เกิดความพิการใด ๆ เหลืออยู่ หากปล่อยทิ้งเนิ่นนานเป็นเดือนเป็นปี หรือหลาย ๆ ปี โรคจึงจะลุกลามอย่างช้า ๆ มีผื่นจำนวนมากขึ้น ผื่นระยะนี้จะมีสีแดงก่ำ ผิวเป็นมัน ขนคิ้วร่วง จมูกยุบ ใบหูหนาและบิดผิดรูปดังได้กล่าวแล้ว หากมารับการรักษาในระยะนี้ แม้จะหายจากโรคได้แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขความพิการดังกล่าวได้

ทั้งนี้ได้แนะนำว่า เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเรื้อน และไม่มียาที่จะใช้ป้องกันการเกิดโรค ดังนั้นประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโรคเรื้อน ควรจะสำรวจผื่นผิวหนังตามร่างกายหากมีผื่นที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเรื้อนในระยะเริ่มแรก ซึ่งมักจะเป็นวงด่างขาวจาง ๆ ตรงตำแหน่งที่มีผื่นจะไม่มีเหงื่อออกและขนร่วง ให้รีบมาปรึกษาแพทย์

ขอบคุณข้อมูลจาก  สถาบันราชประชาสมาสัย, http://www.si.mahidol.ac.th