พลังชุมชน สร้างอาชีพ สร้างผืนป่า โครงการหลวงผาผึ้ง-ศรีคีรีรักษ์

103

สามัคคีคือพลัง เป็นสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก และยังคงใช้ได้ดีเสมอในสังคมทุกวันนี้ วันนี้มีตัวอย่างของคำว่า “สามัคคี” ที่เกิดขึ้นจากการรวมพลังของชุมชน และส่งผลที่ดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเอง นั่นคือ หมู่บ้านศรีคีรีรักษ์ ซึ่งได้ใช้ความสามัคคี ช่วยกันคืนพื้นที่ทำกินเพื่อใช้สร้างเป็นพื้นที่ปลูกป่ากว่า 1,000 ไร่

หมู่บ้านศรีคีรีรักษ์ ซึ่งเดิมชื่อ บ้านปางสังกะสี เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่เขตอุทยานคลองวังเจ้า ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก เป็นชาวเขาเผ่าม้ง จำนวน 189 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 998 คน ซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ทั้งเรื่องการเสพ การขายและเป็นหมู่บ้านเส้นทางการขนส่ง รวมถึงเรื่องปากท้อง อาชีพ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาให้ความรู้ให้การศึกษาหรือชี้นำในทิศทางที่ถูกต้อง ประกอบกับปัญหาอื่นอีกมากมายที่ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ต้องการทางออก

นายผ้า  แซ่ว่าง ผู้ใหญ่บ้านเล็งเห็นว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยหมู่บ้าน จึงร่างหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือเรื่องอาชีพ โดยมีความประสงค์ให้พื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมโครงการในพระราชดำริ ซึ่งต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดตาก   มีหนังสือขอความอนุเคราะห์มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อพิจารณาพื้นที่บ้านผาผึ้ง หมู่ที่ 6 และบ้านศรีคีรีรักษ์  หมู่ 11 ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการหลวง ซึ่งเรื่องได้ไปถึงสำนักราชเลขาธิการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และได้มีหนังสือเรื่อง นายผ้า แซ่ว่าง ขอพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อให้มูลนิธิโครงการหลวงพิจารณาหนทางในการคลี่คลายปัญหาหรือข้อเสนอแนะ โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พิจารณาดำเนินการพัฒนาตามแนวทางของโครงการหลวง

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลรายครัวเรือน และจัดประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับราษฎรบ้านผาผึ้งและบ้านศรีคีรีรักษ์เพื่อรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่และหาแนวทางการดำเนินงาน พื้นที่บ้านผาผึ้ง หมู่ที่ 6 และบ้านศรีคีรีรักษ์ หมู่ที่ 11 เพื่อให้คณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และคณะกรรมการอนุวิจัยและพัฒนา พิจารณาจัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาผึ้ง – ศรีคีรีรักษ์ ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560

หมู่บ้านผาผึ้งและบ้านศรีคีรีรักษ์ แต่เดิมประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุด โดยมีพื้นที่ปลูกรวมถึง 12,541 ไร่ มีรายได้ 3,592 บาทต่อไร่ และต้นทุนการผลิต 2,230 บาทต่อไร่รองลงมาคือปลูกพริกในแปลงปลูกข้าวโพดเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายให้พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อนอกเหนือจากพืชชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ในชุมชน เช่น มันสำปะหลัง กล้วย พริก เป็นต้น ด้านปศุสัตว์มีการเลี้ยงวัวเพื่อจำหน่าย และเลี้ยงสุกร ไก่ เป็ด ไว้เพื่อบริโภค โดยภาพรวมรายได้ของชุมชนจากการสำรวจข้อมูลเฉลี่ยรายคนอยู่ที่  52,992 บาท/คน/ปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก อีกทั้งชาวบ้านยังคงมีหนี้สิน ทั้งหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้นายทุนและหนี้นอกระบบอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ สวพส. จึงเห็นว่าควรส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรโดยเลือกพืชอายุสั้น ที่สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรก่อน เพื่อมาทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้พื้นที่มาก ใช้สารเคมีมาก ใช้แรงงานมาก แต่ได้เงินน้อย โดยพืชที่นำมาส่งเสริมให้ปลูกในระยะแรกคือ เสาวรส ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ สวพส. ได้คัดเลือกชาวบ้านผู้สนใจทดลองปลูก 2-3 ราย  โดยสนับสนุนต้นกล้าและให้ความรู้ และติดตามประเมินผล นำเกษตรกรไปศึกษาดูงานในช่วงต้นปี 2560 เมื่อชาวบ้านรายอื่นเห็นว่าสามารถปลูกและสร้างรายได้ ก็เริ่มหันมาปลูกเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ซึ่งในช่วงเดือน มิถุนายน 2560 ถึง กุมภาพันธ์ 2561 เกษตรกรที่ปลูกเสาวรสทั้งหมดสามารถเก็บผลผลิตได้กว่า 13,000 กิโลกรัม สร้างได้รวมให้เกษตรกรกว่า 2,000,000 บาท  

ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือป่าไม้ในชุมชน แต่เดิมชุมชนนี้มีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกินมาเป็นเวลานาน พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการปกครองของอุทยานคลองวังเจ้า อำเภอวังเจ้า  จังหวัดตาก เมื่อ สวพส. เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้ใช้วิธีการทำงานแบบบูรณาการ โดยชาวบ้าน หน่วยงาน ทุกคนต้องเข้าใจและมีเป้าหมายเดียวกัน มีการกำหนดเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่ดินทำกิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามหลักวิชาการและศักยภาพของพื้นที่ และปรับระบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน โดยให้ชุมชนเป็นจุดศูนย์กลาง โดยมีการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ (Zoning) และจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงเพื่อเป็นเครื่องมือวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ ให้เกิดการพัฒนาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านศรีคีรีรักษ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ชาวบ้านเข้าใจเรื่องความสำคัญของการอนุรักษ์ผืนป่า ความจำเป็นของป่าต้นน้ำลำธาร และได้รวมใจกันคืนพื้นที่ดินทำกินบริเวณพื้นที่แนวกันชนระหว่างป่า และพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน (Buffer Zone) ระยะ 50 เมตร เพื่อใช้ปลูกป่าสร้างรายได้ เป็นแหล่งอาหารของครัวเรือน (Food Bank) ทำให้ป่าเพิ่มขึ้น 1,128 ไร่ นอกจากนี้ ยังร่วมกันทำฝ่ายชะลอน้ำเพื่อปลูกป่าชาวบ้านและหญ้าแฝกกักเก็บความชุ่มชื้นให้มีน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหน กับการที่ชาวบ้านในชุมชนพร้อมใจกัน โดยเล็งเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำในอนาคตด้วยตัวเองโดยที่หน่วยงานไม่ได้บังคับ หากแต่เพียงสนับสนุนองค์ความรู้และการได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงเกิดเป็นการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ สวพส. ยังมีงานส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนบ้านศรีคีรีรักษ์อีกหลายด้าน เช่น งานวิจัยพืชต่างๆ โครงการวิจัยการปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวไร่บนพื้นที่สูง โครงการวิจัยการนำสารชีวภัณฑ์ไปใช้เพื่อลดการใช้สารเคมีบนพื้นที่สูง โครงการวิจัยการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยถั่ว งานด้านปศุสัตว์ การพัฒนาตลาดจำหน่ายผลผลิตในชุมชน และอีกหลายๆโครงการ ซึ่งในแต่ละงาน ได้มีหน่วยงานและชาวบ้าน เข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนไปพร้อมๆกันร่วมกัน