ชูโมเดล “สวนผักคนเมือง” ความมั่นคงทางอาหารปลอดสารพิษ

297

แม้ว่ากระแสการกินเพื่อสุขภาพจะได้รับความนิยมมากในเมืองไทย แต่ผลจากการสำรวจก็ยังพบว่า คนไทยกินผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์กว่า 70% การเดินหน้าเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักต่างๆ ที่ปลอดภัยไร้สารพิษ จึงยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิถีคนเมืองที่เร่งรีบและห่างไกลจากต้นทางของวัตถุดิบ

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ที่สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเทศกาลสวนผักคนเมือง 2019 (ครั้งที่ 5) ตอน “Land Sharing: แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า วิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้คนเมืองต้องพึ่งพิงอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารจากตลาด และประชาชนมีความกังวลต่อความปลอดภัยของผักผลไม้ จากรายงานการสำรวจสุขภาพของคนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2556-2557 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า อัตราการบริโภคผักผลไม้ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่บริโภคได้อย่างเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ให้บริโภคผักผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม หรือ 5 ทัพพี มีเพียง ร้อยละ 25.9 ดังนั้นประชาชนถึงร้อยละ 74.1 ยังขาดการกินผักผลไม้ที่เพียงพอ

“การบริโภคผักและผลไม้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด คือผักและผลไม้ต้องปลอดภัยจากสารเคมี แต่ผลการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2559 ได้ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้เกินกว่าค่า Minimum Residue Level (MRL) ถึงร้อยละ 46.4 ทางออกหนึ่งคือการปลูกผักเองเพื่อบริโภค สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธิมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ในการสนับสนุนโครงการสวนผักคนเมือง เพื่อให้คนเมืองสามารถพึ่งตนเองโดยส่งเสริมการปลูกผักในครัวเรือน สวนผักคนเมือง สวนผักในองค์กร มีการให้ความรู้ และเครื่องมือมีความแพร่หลาย ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย และเกิดเป็นกระแสค่านิยมใหม่ในสังคม” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการสวนผักคนเมือง ร่วมกับ สสส. ยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารและส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ปลอดสารเคมี ภายใต้แนวคิด Land Sharing: แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต” จากการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่เกษตรกรรมลดลง คาดการณ์ว่า ในปี 2050 อาหารที่คนเมืองบริโภค ต้องนำเข้าจากพื้นที่ชนบทถึงร้อยละ 80 และผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ครัวเรือนเพื่อซื้ออาหาร หากพื้นที่ว่างในเมืองสามารถผลิตอาหารได้ คนเมืองจะเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ ลดความเลื่อมล้ำในสังคม และในภาวะฉุกเฉินภัยพิบัติต่างๆ ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง ฟื้นฟูระบบนิเวศของเมือง เกิดการช่วยเหลือกันของคนในสังคมเมือง สร้างสังคมของการแบ่งปันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ