หมอสูติฯ-หมอเด็ก ประสานเสียงขอสังคมเปลี่ยนมุมคิด หญิงท้องไม่พร้อมคือผู้ป่วย ขอแพทย์-รพ.เปิดทางเลือก เข้าถึงการยุติครรภ์ที่ปลอดภัย กฎหมายเอื้อทำตามข้อบ่งชี้ไม่ผิด สถิติชี้หญิงทำแท้งเถื่อนสุดอันตราย อัตราตาย 300 คน ต่อแสนประชากร ด้าน สสส. หนุนการเข้าถึงบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร โดยเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวในการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ว่า ในปี 2560 มีหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตร 84,578 คน ส่วนจำนวนยุติการตั้งครรภ์นั้นไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่คาดการณ์ว่าจะใกล้เคียงกับจำนวนที่คลอดบุตร คือมีการตั้งครรภ์ราว 2 แสนคน ในจำนวนนี้น่าจะยุติการตั้งครรภ์ราว 1 แสนคน
ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่หากมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเกิดขึ้น จะต้องมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกอย่างครอบคลุมและรอบด้าน เนื่องจาก พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตรา 5 ระบุให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญา และข้อบังคับแพทยสภา อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายหากเข้าเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้ข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่ 1) การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายของมารดา 2) ส่งผลต่อสุขภาพจิตของมารดา 3) ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรงหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง 4) การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการข่มขืน เกิดจากการล่อลวงบังคับ ข่มขู่ และการตั้งครรภ์ของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แม้ว่าเด็กจะสมยอมก็ตาม และอนุญาตให้ทำโดยแพทย์ในคลินิกได้กรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากอายุครรภ์มากกว่านี้ต้องทำโดยแพทย์และภายในโรงพยาบาล
ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ กล่าวอีกว่า วิธีการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ทำได้โดยการใช้เครื่องดูดมดลูกสุญญากาศ หรือการกินยา ซึ่งเป็นการใช้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ในระยะแรกที่อายุครรภ์น้อย ทั้งนี้ประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนยานี้ตั้งแต่ปี 2557 และมีระบบควบคุมเพื่อป้องกันการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยสถานพยาบาลที่จะมีและใช้ยาได้ จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย และต้องผ่านการอบรมการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ มีการทำบัญชีการเบิกจ่ายยาอย่างรัดกุม ส่วนปัญหาจากการที่แพทย์ปฏิเสธการรักษานั้น ทำให้กลุ่มหญิงท้องไม่พร้อมต้องหันไปพึ่งการทำแท้งเถื่อนที่เป็นอันตรายอย่างมาก ทั้งการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ตกเลือด มดลูกทะลุ ไตวาย เป็นต้น ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ปี 2551 และ 2552 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งถึง ปีละกว่า 3 หมื่นราย และคาดว่าจะมีอัตราตายสูงถึง 300 คน ต่อแสนประชากร ซึ่งแพทย์มีส่วนสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาแท้งไม่ปลอดภัยนี้ได้
“การผลักดันดังกล่าว ไม่มีเจตนาส่งเสริมให้มีการทำแท้งอย่างกว้างขวาง แต่บางคนมีความจำเป็นบางอย่างในชีวิตที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ ก็ต้องให้เขาได้รักษาอย่างปลอดภัย จึงอยากให้สูตินรีแพทย์รวมทั้งแพทย์ทั่วไป เข้าใจในเรื่องนี้และเปลี่ยนมุมมองว่า หญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์และเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายอนุญาตนั้นเป็นผู้ป่วย จำเป็นที่แพทย์ต้องให้การช่วยเหลือและรักษาให้ได้รับบริการที่ปลอดภัย” ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ กล่าว
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อดีตนายกแพทยสภาและกรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมี 54 ประเทศที่อนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ ครอบคลุมประชากร 61 % ของประชากรโลก โดยแต่ละปีทั่วโลกมีการยุติการตั้งครรภ์ราว 56 ล้านคน 45 % เป็นการยุติที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงมาก แต่หากเป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทำตามมาตรฐานทางการแพทย์ มีโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้หญิงคลอดธรรมดามีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยถึง 13 เท่า
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมมือกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้และการเสริมความเชื่อมโยงกันของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกเครือข่าย ให้กับทีมงานอาสา (Referral system for Safe Abortion: RSA) ซึ่งเป็นเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีจิตอาสาดูแลวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อให้วัยรุ่นและผู้หญิงที่ประสบปัญหาได้มีทางเลือกที่ปลอดภัย นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สสส. ยังร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ให้คนทุกเพศทุกวัยพกและใช้ถุงยางอนามัยอีกด้วย
สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม สามารถติดต่อสายด่วน 1663 เพื่อขอรับคำปรึกษา และช่องทางการติดต่อเครือข่าย RSA ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 21.00 น. หรือติดต่อผ่าน facebook: 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ได้ตลอด 24 ชม.