เผยภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่คนไทยต้องแบกรับ

33

นักวิชาการ “จับตาสารพัดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ทำคนไทยป่วยหนัก ตายก่อนวัยอันควร” ชี้สาเหตุสำคัญจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ “บุหรี่-เหล้า-ความดันโลหิตสูง-โรคอ้วน” บุหรี่เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งทำคนไทยตายสูงสุด 55,000 คนต่อปี และคนสูบบุหรี่ตายเร็วขึ้นเฉลี่ยคนละ 18 ปี จากโรคมะเร็งโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง และโรคปอด

เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย จัดเสวนาวิชาการ “ต้นสายปลายเหตุ ภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่คนไทยต้องแบกรับ” โดย ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย“รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากร พ.ศ. 2557” ที่ทำการศึกษา 14 ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญของคนไทย พบสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและตายก่อนวัยอันควร ในเพศชาย ได้แก่ การดื่มสุราและสูบบุหรี่ ส่วนเพศหญิง คือการมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนและภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งพฤติกรรมทางสุขภาพที่เสี่ยงเหล่านี้ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคมะเร็ง หัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และยังส่งผลต่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นผลจากการดื่มสุรา

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ยังคงเป็นต้นเหตุสำคัญอันดับหนึ่งของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในคนไทย พบครึ่งหนึ่งของคนสูบบุหรี่จะเสียชีวิตจากบุหรี่ ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน และในแต่ละปีคนไทยตายจากบุหรี่ปีละ 55,000 คน ซึ่งเฉลี่ยจะตายก่อนวัยอันสมควรคนละ 18 ปี นอกจากนี้ บุหรี่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจซึ่งมูลค่าที่สูญเสียสูงกว่าภาษีจากบุหรี่ที่รัฐจัดเก็บได้ถึง 2 เท่า

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ในคนไทยมีแนวโน้มที่ลดลง โดยสัดส่วนของคนไม่สูบบุหรี่ต่อคนสูบบุหรี่สูงขึ้น แต่พบอัตราการตายจากโรคที่เกิดจากบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษาทั่วโลกพบการเปลี่ยนแปลงของอัตราการตายจากบุหรี่จะเกิดขึ้นช้ากว่าอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลงถึง 30-40 ปี หรือกล่าวได้ว่าอัตราการตายจากบุหรี่ในปัจจุบันเป็นผลของสถานการณ์การสูบบุหรี่เมื่อ 30-40 ปีก่อนหน้า ทั้งนี้ มาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบต้องดำเนินต่อเนื่องอย่างเข้มข้นเพื่อช่วยลดความสูญเสียอันเกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมาตรการเร่งด่วนในปัจจุบันที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการได้แก่ กรมสรรพสามิต ควรปรับอัตราภาษีบุหรี่เป็นอัตราเดียวกันคือ 40% ตามแผนที่กำหนดไว้ การใช้อัตราภาษีหลายระดับจะไม่ช่วยลดการบริโภคแต่ทำให้ผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปบริโภคสินค้าที่ถูกกว่า และเร่งพิจารณาขึ้นภาษียาเส้นที่ปัจจุบันมีราคาถูกว่าบุหรี่โรงงานหลายเท่าทั้งที่พิษภัยจากการสูบไม่แตกต่างกัน รวมถึงการจัดระบบควบคุมบุหรี่ผิดกฎหมาย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งพัฒนาระบบการช่วยเลิกบุหรี่ และร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการจังหวัดในการควบคุมยาสูบ

ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่ทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควร และยังคงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียปีของการมีสุขภาวะที่ดีในผู้ชายไทย แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 22,000 ราย ซึ่งเฉลี่ยจะตายก่อนวัยอันสมควรจากการป่วยด้วยโรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนละ 29 ปี เนื่องจากปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพเฉพาะตัวผู้ดื่ม แต่ยังสร้างปัญหาสุขภาพต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม เช่น การทำร้ายร่างกาย การได้รับอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ รวมถึงปัญหาสังคมและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งองค์การอนามัยโลกย้ำว่า “ไม่มีการดื่มในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ” การจัดการปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะลดภาระโรคและความสูญเสียทางด้านสุขภาพและรักษาชีวิตนักดื่มแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสังคมอื่น ๆ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งดำเนินการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งการขึ้นภาษี การลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการจัดการที่จุดจำหน่ายหรือบริการ และการควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขายของบริษัทเหล้า ซึ่งเป็นนโยบายที่มีประสิทธิผลในการลดการดื่มของประชาชนและลดผลกระทบในภาพรวมของประเทศได้

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อันตรายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทำคนไทยตายมากกว่าโรคติดต่อถึง 3 เท่า และยังสร้างความพิการ คุณภาพชีวิตตกต่ำ เป็นต้นเหตุความยากจนและความรุนแรงในสังคม ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังป้องกันได้ถึง 70% และส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่ทำอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะยาสูบ เหล้าเบียร์ อาหารที่มีส่วนผสมในระดับอันตรายจากเกลือโซเดียม น้ำตาล ไขมัน และการไม่มีพื้นที่เชิงบวกที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ฯลฯ  ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงในช่วงเลือกตั้งควรแสดงจุดยืนและประกาศนโยบายพรรคเพื่อจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้ ซึ่งมาตรการสำคัญคือการขึ้นภาษีสินค้าที่ทำลายสุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่และสุรา