AI แทนที่แรงงาน ทางออกอยู่ตรงไหน

23

กระแสของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ถูกกล่าวถึงอย่างมากในยุคที่นวัตกรรมมีส่วนในการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของแรงงาน ซึ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ ภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มขยับเข้าสู่การใช้นวัตกรรม AI แทนการใช้แรงงานคน และนี่บทบาทที่ท้าทายในโลกอนาคตอันใกล้ ของแรงงานไทย

เมื่อไม่นานมานี้  กระทรวงแรงงานได้เปิดเผยนโยบายและมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทย มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาทักษะและปรับตัวแรงงานรุ่นใหม่ ก้าวสู่เทคโนโลยีดิจิทัล

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงแรงงานกับการเตรียมการรองรับผลกระทบจากเทคโนโลยี” ในงานสัมมนาทางวิชาการด้านแรงงานเรื่อง Disruptive Technology :  ผลกระทบการจ้างงาน…ทางออกอยู่ตรงไหน?” ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า จากรายงานผลการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเรื่อง “อาเซียนในยุคเปลี่ยนผ่าน อนาคตตลาดงานท่ามกลางความเสี่ยงจากจักรกลอัตโนมัติ” พบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอาเซียนที่ระบบจักรกลอัตโนมัติจะมาทดแทนแรงงานคน เนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และต้องการเพิ่มกำลังการผลิต โดยอาจมีแรงงานประมาณ 17 ล้านคน จะถูกเทคโนโลยีและระบบจักรกลเข้ามาแทนที่ และมีโอกาสเกิดกับแรงงานหญิงมากกว่าชายถึง 50 % ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าแรงงานในหลายอาชีพจะหายไปเพราะ AI จะมาทำหน้าที่แทนมนุษย์ และส่งผลกระทบมายังกำลังแรงงานนั้น

กระทรวงแรงงานได้กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยได้จัดทำนโยบายเน้นหนักของกระทรวงแรงงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่เรียกว่า นโยบาย 13-4-7 หรือ 3A คือนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) 13 ข้อ นโยบายระดับพื้นที่ (Area Based) 4 ข้อ และนโยบายบริหารการพัฒนา (Administration Based) 4 ข้อ ซึ่งนโยบายดังกล่าวกำหนดขึ้นจากผลการประมวลสถานการณ์และแนวโน้มด้านแรงงานในทุกมิติ

พล.ต.อ.อดุลย์ ฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการใช้ AI ซึ่งถือว่ามาเร็วและแรง ดังนั้นแรงงานรุ่นใหม่ ต้องมีความสามารถในการเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี รวมทั้งต้องมีทักษะในการปรับตัว และเติบโตได้ในโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยการเตรียมการรองรับเพื่อพัฒนาคนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมคนไทยให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการเกิดขึ้นของสาขาอาชีพใหม่ ๆ ซึ่งการสัมมนาในวันนี้จะช่วยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และผลกระทบเตรียมพร้อมรองรับการนำเทคโนโลยีที่จะเข้ามาใช้แทนกำลังคนและมีผลกระทบต่อรูปแบบการจ้างงานใหม่ในอนาคต เพื่อภาครัฐรวมถึงกระทรวงแรงงานจะได้นำไปประกอบการกำหนดนโยบายและแนวทางดำเนินงานเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป