ยุติการเลือกปฏิบัติ  ยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573

34

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ 1 มีนาคม วันยุติการเลือกปฏิบัติ ในหัวข้อ “สานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ” โดยเน้นมาตรการในเชิงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ และมาตรการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2573 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมแพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร  ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประเทศไทย  นายนิมิตร์ เทียนอุดม ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์  และนายกฤตนัน ดิษฐบรรจง ผู้แทนเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ร่วมกล่าวเจตนารมณ์ในวันยุติการเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination Day) ตามแนวคิด “สานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ” พร้อมมอบโล่รางวัลแก่องค์กร “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน” ปี 2561 จำนวน 14 องค์กร

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตจากเอชไอวี แต่ยังมีความท้าทายในการดำเนินงานเพื่อยุติการรังเกียจกีดกันและการเลือกปฏิบัติ ที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้มีเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าสู่ระบบบริการโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรหลัก  ทั้งนี้ ในปี 2562 นี้ กรมควบคุมโรค ได้ทำการสำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน (DDC poll) จำนวน 3,500 คน จาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนยังคิดว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นคนไม่ดี ไม่ควรทำงานร่วมกับผู้อื่น ยังคิดว่าเอดส์ไม่มีทางรักษา  นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการรังเกียจและกีดกันผู้ติดเชื้อกับการอยู่ร่วมกันในสังคม มากสุดคือที่ทำงาน ร้อยละ 88.3 รองลงมาคือครอบครัว ร้อยละ 57 และโรงเรียน ร้อยละ 56.1 ตามลำดับ

ปัจจุบันประเทศไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ได้ตั้งเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิต และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะ ซึ่งมีการกำหนดมาตรการหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการในเชิงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ดำเนินงานพัฒนาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ  และกลยุทธ์เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุกรูปแบบ  2.มาตรการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับของสังคม พัฒนานวัตกรรม E-learning เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและลดการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ บูรณาการไปกับการพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาล ส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ดำเนินงานตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ภายใต้แนวคิดองค์กร “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน” โดยให้องค์กรเข้าใจ และไม่ใช้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการรับเข้าทำงาน รวมถึงดูแลคนในองค์กรให้ปลอดภัยจากเอดส์ และส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันกับผู้มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรภาครัฐต่างๆ สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 106 องค์กร

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล “องค์กรดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน” ระดับประเทศในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ทุกคนเปิดใจยอมรับและให้โอกาสผู้มีเชื้อเอชไอวี ได้มีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วม “สานพลังยุติการเลือกปฏิบัติ” ตามแนวคิด “Thailand Partnership for Zero Discrimination” และร่วมกันสร้างสังคมที่ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยเริ่มที่ตัวเรา ด้วยการ “เปิดใจ เข้าใจเอชไอวี เราอยู่ด้วยกันได้”

ด้านแพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งด้านนโยบายการป้องกันและแก้ปัญหาเอดส์ รวมถึงการดำเนินการในพื้นที่อย่างจริงจัง  และยังเป็น 1 ใน 26 เมืองใหญ่จากทั่วโลก ที่ได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในโครงการเร่งรัดยุติปัญหาเอดส์ ในระหว่างการประชุมครั้งประวัติศาสตร์  ณ กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2557 ทั้งนี้คณะกรรมการเร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์กรุงเทพมหานคร ได้มีมติให้ดำเนินการโครงการ Bangkok Partnership for Zero Discrimination โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการเลือกปฏิบัติในหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่รวมกับเชื้อเอชไอวีให้เป็นศูนย์ กำหนดให้ร้อยละ 80 ของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.  และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งผ่านการอบรมหรือเรียน E-learning   เพื่อส่งเสริมการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติภายในปี 2563  นอกจากนี้ ได้มีการเร่งรัดให้นำมติจากคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการคุ้มครองสิทธิเรื่องการตรวจเลือดและผู้อยู่รวมกับเชื้อเอชไอวีในสถานที่ทำงานและสถานศึกษาผ่านสำนักเขต ทั้ง 50 แห่งด้วย

ส่วน ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประเทศไทย กล่าวว่า จากเวทีโลก Global Partnership for action to eliminate all forms of HIV related Stigma and Discrimination ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตระหนักว่า การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่รวมกับเชื้อเอชไอวี ต่อประชากรกลุ่มเฉพาะ ประชากรหลัก ยังคงเป็นที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมในประเทศทั่วโลกและเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเข้าถึงการป้องกันและการรักษาทำให้ส่งผลต่อการไม่บรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ตามที่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน สำหรับ Thailand Partnership for Zero Discrimination ขอให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง สานพลังมุ่งสู่การลดการเลือกปฏิบัติ  เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ ในปี พ.ศ.2573 เริ่มต้นวันนี้ที่ประเทศไทย ที่พื้นที่ ที่หน่วยงานของท่าน พวกเราทุกภาคส่วนร่วมสานพลังมุ่งสู่การยุติการเลือกปฏิบัติไปด้วยกัน