ไทยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคหัดอย่างใกล้ชิด  

17

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคหัดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พร้อมเดินหน้า 5 มาตรการเร่งรัดกำจัดโรคหัดตามเป้าหมาย และในปี 2562 นี้ได้เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคหัดสำรองไว้กว่า 1.4 แสนโด๊ส เพื่อเตรียมตอบโต้หากเกิดการระบาดขึ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นั้น  กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ในระยะที่ผ่านมาได้เกิดการระบาดของโรคหัดในหลายประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบรายงานผู้ป่วยโรคหัดในทุกภูมิภาคของโลก โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดในอินเดีย 64,972 ราย รองลงมาคือยูเครน 53,218 ราย และปากีสถาน 33,224 ราย ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบการระบาดในประเทศ ฟิลิปปินส์ เซอร์เบีย จอร์เจีย อัลเบเนีย เป็นต้น  ส่วนในประเทศไทยพบว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันโรคหัดทั่วประเทศ 3,590 ราย เสียชีวิต 23 ราย

กระทรวงสาธารณสุข โดยศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง  สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับนานาประเทศในการดำเนินโครงการกำจัดโรคหัดตามพันธะสัญญานานาชาติมาตั้งแต่ปี 2553 วัตถุประสงค์เพื่อลดการเกิดโรคหัดลงภายในปี 2563 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าประเทศไทยต้องมีผู้ป่วยโรคหัดไม่เกิน 1 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับ 65 คน และไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้บรรจุวัคซีนป้องกันโรคหัดเข้าในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ ตั้งแต่ปี 2527 และขยายการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรองรับการระบาดของโรคหัดที่เกิดขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคของโลก คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจึงได้มีมติเห็นชอบ  มาตรการเร่งรัดการกำจัดโรคหัด 5 มาตรการ  ได้แก่   1.เพิ่มและรักษาระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีน  2.เร่งรัดการเฝ้าระวังโรคและการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ    3.เสริมสร้างความเข้มแข็งของการสอบสวนและควบคุมโรค 4.รณรงค์ให้วัคซีนโรคหัด และ 5.ตอบโต้การระบาดอย่างเต็มที่

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยา ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคหัดอย่างใกล้ชิด โดยพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการระบาดของโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กนักเรียนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ประกอบกับเด็กจำนวนมากมีภาวะทุพโภชนาการ  ทำให้เด็กมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงเนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อน  นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยในประชากรกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดอื่นๆ เช่น เด็กต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน  และกลุ่มผู้ใหญ่ที่อยู่รวมกันเป็นคนหมู่มากตามสถานประกอบการ ค่ายทหาร เรือนจำ เป็นต้น

เพื่อให้ประเทศไทย  สามารถกำจัดโรคหัดได้ตามเป้าหมายและลดการแพร่ระบาดภายในประเทศอย่างยั่งยืน       กรมควบคุมโรค จึงได้เสนอโครงการเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทยตามพันธสัญญานานชาติ ปี 2562-2565 โดยในปี 2562 ได้เสนอขอสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นจำนวนเงินประมาณ 93 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณ เพื่อรณรงค์ให้วัคซีนเก็บตกแก่เด็กอายุ 1-12 ปี ทั่วประเทศทั้งไทยและต่างชาติ ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ครบตามเกณฑ์ และจะขยายเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-40 ปี ในจังหวัดเสี่ยงสูง ซึ่งได้กำหนดแผนรณรงค์ให้วัคซีนในปี 2563 ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยคาดว่าหากสามารถรณรงค์วัคซีนได้ตามแผนข้างต้นจะช่วยให้ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคหัดลดลง และสามารถกำจัดโรคหัดได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และในปี 2562 กรมควบคุมโรคได้เพิ่มจำนวนวัคซีนสำรองเพื่อตอบโต้การระบาดเป็น 141,200 โด๊ส เพื่อสนับสนุนพื้นที่ที่เกิดการระบาดโดยเร็ว

โรคหัด เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน  ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เด็ก จำนวน 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9 เดือน และ 2 ปีครึ่ง ซึ่งผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานไปขอรับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวได้ตามสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422