ชวนเกษตรรุ่นใหม่หนุนเกษตรอินทรีย์ วิถีเพื่ออนาคต

305

สุขภาพที่ดีมาจากการกินดีอยู่ดี ดังนั้นคนในปัจจุบันนี้จึงมองหาแนวทางในการสร้างสุขภาพที่ดี จากต้นทางของวัตถุดิบที่เชื่อมั่นใจ รวมทั้งการศึกษาแนวทางการปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ด้วยตัวเอง โดยไม่นานมานี้ สสส. จับมือ เลมอนฟาร์ม เปิดพื้นที่สุพรรณฯ ต้นแบบวิถีเกษตรอินทรีย์ ชวนเกษตรกรรุ่นใหม่ไร้เคมี เน้นขับเคลื่อนตลาดนำผลิตบนมาตรฐาน PGS รายได้กว่าปีละ 5 ล้านบาท

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เลมอนฟาร์ม จัดกิจกรรมเยี่ยมชมการพัฒนาชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ วิถีทุ่งทองยั่งยืน และร่วมให้เกียรติในการกล่าวคำปฏิญญาในการดำเนินการเกษตรอินทรีย์ PGS โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืน ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรอินทรีย์ 31 ครอบครัว พื้นที่อินทรีย์  247  ไร่

ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. อยากเห็นคนไทยไร้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs  อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ความดัน ที่กำลังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 แผนสร้างเสริมวิถีสุขภาวะ สสส. สร้างค่านิยมในการบริโภคผักและผลไม้ควบคู่ไปกับกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ผ่านประสบการณ์การลงมือปฏิบัติจริง ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน ให้มีการบริโภคผักและผลไม้ได้อย่างเพียงพอ (400 กรัมต่อวัน) สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผักและผลไม้ พร้อมตั้งเป้าให้คนไทยหันมากินผักและผลไม้เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 25.9 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2564

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การบริโภคผักและผลไม้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด คือผักและผลไม้ต้องปลอดภัยจากสารเคมี แต่ผลการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2559 ได้ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้เกินกว่าค่า Minimum Residue Level (MRL) ถึงร้อยละ 46.4 ทางออกหนึ่งคือการบริโภคผักจากเกษตรอินทรีย์ สสส. ได้ร่วมกับ เลมอนฟาร์ม ในการสนับสนุนโครงการ “จัดการระบบการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างสุขภาพดีแก่ผู้บริโภค เกษตร” เพื่อส่งเสริมการปลูกผักเกษตรอินทรีย์ โดยวิธีที่ถูกต้อง มีการให้ความรู้ และเครื่องมือมีความแพร่หลาย มีตลาดรับรองผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเกิดเป็นกระแสค่านิยมใหม่ในสังคม

นางสุวรรณา  หลั่งน้ำสังข์  กรรมการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม  กล่าวว่า ร่วมกับ สสส. พัฒนาเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ PGS ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์  โดยใช้ Lemon Farm Organic PGS Model ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างกระบวนการสุขภาพดีแก้โรค NCDs โดยใช้อาหารเกษตรอินทรีย์ และช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ตั้งแต่ปี 2558 มีพื้นที่ดำเนินการใน อ.อู่ทอง และ อ.ด่านช้าง ได้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืน มีสมาชิกเกษตรกรอินทรีย์ 31 ราย พื้นที่อินทรีย์ 247 ไร่ และกลุ่มรักษ์ด่านช้าง สมาชิก 6 ราย  พื้นที่อินทรีย์ 30 ไร่ สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มฯ รวมแล้วปีละกว่า 5.5 ล้านบาท เพื่อให้การทำเกษตรอินทรีย์ทำได้ยั่งยืนต่อเนื่อง ลักษณะที่สำคัญคือการมีผู้นำที่เสียสละ และกลุ่มที่เข้มแข็งจริงจังบนวิถีเกษตรอินทรีย์และมุ่งสู่วิถียั่งยืน

นายปัญญา ใคร่ครวญ เกษตรกรอินทรีย์ตัวแทนกลุ่มทุ่งทองยั่งยืน กล่าวถึงการประกาศเจตนารมณ์ ขอแสดงเจตจำนงและความมุ่งมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรง ในการสร้างอาหารเกษตรอินทรีย์ที่สะอาดจากสารเคมีอันตรายให้แก่ผู้บริโภค และร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้สามารถ เปลี่ยนที่นาเป็นสวนผักผลไม้อินทรีย์ ทำให้สุขภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน  มีรายได้มั่นคงและมีอาหารกิน ลดการซื้อภายนอกตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ลดหนี้ได้  ทั้งเพิ่มความเข้มแข็งของกลุ่มและชุมชน และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

​อีกส่วนที่สำคัญ คือ การสร้างพื้นที่งานและอาชีพให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าสู่ภาคการเกษตรแบบมีอนาคต และสามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิดได้ ชักชวนลูกชาย ลูกสาวกลับบ้าน เป็นกำลังสำคัญและเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ให้แก่ประเทศ บนวิถีเกษตรอินทรีย์

สสส. และ เลมอนฟาร์ม  มีเป้าหมายขยายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ใน อ.อู่ทอง อ.ด่านช้าง ในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพและเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรรายย่อยให้มั่นคงขึ้น ปัจจุบัน เลมอนฟาร์มดำเนินการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS ใน 14 กลุ่ม พื้นที่ 3,000 ไร่