ภาวะวัยรุ่นติดเกม เด็กติดมือถือ ยังคงเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของสังคมไทย และเป็นที่สนใจของหลายภาคส่วน ไม่นานมานี้ สสส. กกท. จับมือ องค์กรญี่ปุ่น ชูสูตร ACP ช่วยการแบ่งเวลาเล่น พัฒนาการเรียนรู้เด็กภูมิภาคอาเซียน หลังพบ 71% เด็กเยาวชนไทยเล่นมือถือ-อินเตอร์เน็ตในช่วงปิดเทอม เนือยนิ่งถึง 13%
ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า กกท. มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และกีฬาเพื่อการอาชีพ แต่เรายังคงใส่ใจกับการเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยให้กับประชาชนชาวไทย ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน จึงได้ร่วมกับ สมาคมกีฬาญี่ปุ่น (JSPO) และ สสส. มุ่งพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน ผ่านโครงการ Active Child Program (ACP) โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ใช้โปรมแกรมขององค์กรญี่ปุ่นนี้ในการเสริมสร้างสุขภาพพลานามัย เกิดการเล่นกีฬาและนันทนาการตามความถนัดและสนใจ ได้ออกกำลังกายและได้เรียนรู้ระเบียบวินัยและเคารพกฎในกติกา โดยจะจัดการอบรมสำหรับขึ้นในเดือนพฤษภาคม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้บนโลกกว้าง ผลสำรวจที่น่าสนใจเรื่อง “ปิดเทอมนี้เด็กเยาวชนอยากทำอะไร” ในปี 2561 ที่ผ่านมา โดย สสส. ร่วมกับชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน จำนวน 1,760 ตัวอย่าง พบว่า กิจกรรมที่เด็กเยาวชนตั้งใจจะทำในช่วงปิดเทอม อันดับแรก คือ เล่นมือถือ อินเตอร์เน็ตถึงร้อยละ 71 เฉลี่ยวันละ 3.1 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนือยนิ่งและขาดกิจกรรมทางกายถึงร้อยละ 13 ถือว่าเด็กไทยอยู่ในช่วงวิกฤติ โครงการ Active Child Program ที่ JSPO จัดขึ้นจึงมีส่วนช่วยให้เด็กเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สนองนโยบายรัฐบาลที่อยากให้ปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันตระหนักและเห็นคุณค่าในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
“โครงการ Active Child Program เป็นไปตามแนวทางนวัตกรรม Active Play ของ สสส. ที่เด็กควรมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักประมาณ 60 นาทีต่อวัน โดยใช้สูตรแบ่งเวลาเล่นแบ่งออกเป็น 10-20-30 คือ 10 นาที ก่อนเข้าเรียน ต่อด้วย 20 นาทีระหว่างวัน เล่นเกมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และ 30 นาทีสุดท้าย หลังเลิกเรียน จะส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความกระตือรือร้น ลดภาวะเนือยนิ่ง มีสมาธิ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย หรือเพิ่มกิจกรรมทางกายได้ในชีวิตประจำวัน หรือการ ออกมาเล่น แอคทีฟ 60 นาที ทุกวัน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
Ms.Onodera Harumi ผู้จัดการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สมาคมกีฬาญี่ปุ่น (JSPO) กล่าวว่า โครงการ Active Child Program เป็นโปรแกรมที่ใช้การบริหารเชิงพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อให้สามารถออกกำลังกายได้ด้วยตัวเอง ผ่านการออกมาเล่น เช่น เกมจับปลา วิ่งไล่จับ โดยใช้ปัจจัย 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. การรับรู้ ด้วยการลองสัมผัสกับความสำเร็จ เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านผู้อื่น 2. ความต้องการ (แรงจูงใจภายใน) สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี 3. สภาพแวดล้อม ทั้งบุคคล สังคมวัฒนธรรม และทางกายภาพ สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาสมรรถนะร่างกายและความสามารถในการออกกำลังกาย เกิดสุขภาพที่ดี เกิดความมุ่งมั่น เกิดการแบ่งปันสามารถเข้าสังคมได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยพัฒนาสมอง ส่งผลให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในชีวิตประจำวัน