‘ดีป้า’ ร่วมมือ 6 บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรม IoT ในสิงคโปร์ ผลักดัน ‘ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์’ สานต่อนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเพิ่มศักยภาพทางเทคโนโลยี
ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือดีป้า เป็นตัวแทนลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท Unity และ Spotwerkz โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคนิค สนับสนุน Digital Park Thailand และ IoT Institute ภายใต้นโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา depa ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 4 บริษัทชั้นนำในสิงคโปร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านแพลตฟอร์มและโซลูชัน IoT และด้านการลงทุนภายในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย Willowmore, Gobi Partners, Unabiz และ Ascent Solutions ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการ เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้ใช้แพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ เพื่อยกระดับมาตรฐาน และประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้เทียบเท่าระดับสากล
ดร.ภาสกร กล่าวถึงจุดประสงค์ของการเดินทางไปพบปะ เยี่ยมเยือน และพุดคุยถึงโอกาสด้านความร่วมมือต่าง ๆ กับบริษัทเป้าหมายในประเทศสิงคโปร์ครั้งนี้ว่า เป็นการสนับสนุนนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ของรัฐบาลไทย ทั้งในการแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงวิชาการและด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น
โดยบริษัท Unity นั้นเป็นผู้นำด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับเกม โดยเป็นแพลตฟอร์มที่มีการนำไปใช้มากกว่าสองในสามของตลาดเกมทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ให้บริการด้าน 3D automotive design, industrial and architectural services และ บริการด้าน film and animation โดยบริการเหล่านี้มีความสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ Spotwerkz ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ big data analytics เป็นผู้ได้รับสิทธิในการใช้โซลูชั่นของ Unity ในประเทศไทย
ส่วนบริษัท Willowmore Singapore Pte. Ltd. เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมกุญแจและตู้ล็อคอัจฉริยะ และเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยี Sig-Wav แห่งแรกของโลก นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นด้านการพัฒนานวัตกรรมและการนำเสนอโซลูชันที่โดดเด่น และมีประสิทธิภาพ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการนำปัญญาประดิษฐ์ที่มีความซับซ้อนสูงมาใช้เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยและความทันสมัย และยังสามารถป้องกันการโจรกรรมกุญแจซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้แพร่หลายในปัจจุบัน ในขณะที่ บริษัท Gobi Partners เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในเอเชีย มีแนวทางในการเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม startup, AI, Data Analytics และ IoT ภายใต้ ‘depa startup funds’ และ/หรือ ‘matching fund’ โดยจากความร่วมมือในครังนี้ จะเป็นการระดมความรู้ ความเชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อพัฒนา ‘startup fund’ ต่อไปในอนาคต
และในส่วนของบริษัท UnaBiz ให้บริการ IoT (Integrated network solution) ซึ่งเป็นการให้บริการโซลูชันบนเครือข่ายแบบครบวงจรที่ช่วยเสริมศักยภาพด้าน IoT ให้ผู้ประกอบธุรกิจ UnaBiz เล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการค้าในภูมิภาค และยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งมีการรองรับจากระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต UnaBiz จึงต้องการที่จะเปิดศูนย์วิจัย เพื่อพัฒนาต่อยอดด้าน IoT Sensor ผ่านความร่วมมือกับ depa
Ascent Solutions เป็นบริษัท IoT ในประเทศสิงคโปร์ให้บริการในหลายอุตสาหกรรม อาทิเช่น การบริหารคลังสินค้า การขนส่งอัจฉริยะ อี-พาสปอร์ต ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น NB-IoT, Satcom, GPRS, Active และ Passive RFID โดยมุ่งเน้นการให้บริการโซลูชีนที่มีความความปลอดภัย และยังมีแผนที่จะขยายเครือข่ายไปทั่วโลก โดยความร่วมมือกับ depa ในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายฐานลูกค้าสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ความรวดเร็วด้านการขนส่งทั้งในและต่างประเทศ
“ความร่วมมือระหว่าง depa กับ 6 บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรม IoT ในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดและพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับสากล เพื่อสานต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ช่วยยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้กับนานาประเทศ จากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีประสบการณ์และความรู้ ซึ่งพร้อมร่วมพัฒนาบุคลากรไทยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ จุดประกาย และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการของไทยในการรองรับการดำเนินธุรกิจรูปแบบดิจิทัลต่อไปในอนาคต” ดร.ภาสกร กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานนอกจากการลงนามความร่วมมือดังกล่าว ดีป้า ยังได้จัดงานสัมมนาวิชาการโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาคม IoT แห่งประเทศไทย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์โดยตรงด้าน IoT ทั้งจากประเทศไทย และจากต่างประเทศ โดยการเสวนาในหัวข้อแรกกล่าวถึงภาพรวม แนวโน้ม และความสำคัญของนวัตกรรม IoT ต่อแผนการพัฒนาประเทศไทยสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ซึ่งดำเนินการเสวนาโดย ดร.เจษฎา ศิวารักษ์ ที่ปรึกษาประธานสมาคม IoT แห่งประเทศไทย และหัวข้อที่สอง ซึ่งเน้นข้อมูลเชิงลึกในด้านบทบาทของการประยุกต์ใช้ IoT ในอุตสหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร AR/VR เครื่องจักร และการออกแบบ และอุปกรณ์ประเภทฮาร์ดแวร์ ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยด้วย