ความเสื่อมถอยของร่างกาย หากไม่ประสบพบเจอด้วยตัวเอง อาจจะไม่เข้าใจ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บและอาการต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อมีอายุมากขึ้น อาทิ โรคข้อเข่าเสื่อม อีกโรคยอดฮิตของคนสูงวัย ทำให้การเคลื่อนไหวได้ช้า มีความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ส่งผลถึงสภาพที่จิตใจที่ย่ำแย่ ใครที่เข้าสู่วัยที่สูงขึ้น หรือมีความใกล้ชิดกับคนสูงวัย ลองมาฟังคำแนะนำของคุณหมอ ที่จะอธิบายถึงโรคนี้ พร้อมแนวทางในการรักษา
โรคข้อเข่าเสื่อม คือ โรคที่เกิดขึ้นจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อนั้นถูกทำลายสึกหรอลง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 10-13 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะมีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น ปวด ขัดในข้อเวลาใช้งาน เดินกระเผลก โดยโรคนี้จะพบบ่อยขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
นพ.พฤกษ์ ไชยกิจ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โดยปกติกระดูกอ่อนผิวข้อจะมีลักษณะเรียบลื่นเป็นมัน ทำหน้าที่ช่วยให้ การเคลื่อนไหวของข้อเป็นไปอย่างเรียบลื่นไม่สะดุด ช่วยกระจายแรงและลดแรงกดกระแทกที่เกิดขึ้นกับข้อต่อ ในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งกระดูกอ่อนผิวข้อจะบางลง โดยอาจมีการแตกเปื่อยยุ่ย สึกหรอ หรือมีการสูญเสียของกระดูกอ่อนผิวข้อดังกล่าว จะทำให้กระดูกส่วนปลายของกระดูกต้นขาที่ต่อกับกระดูกส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง บริเวณข้อเข่า เกิดการเสียดสีกันไปมา เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุข้อ ทำให้มีน้ำในข้อมากขึ้นก่อให้เกิดการบวมของข้อเข่า และเกิดอาการปวดเสียว มีการเคลื่อนไหวติดขัดของข้อเข่า โดยเฉพาะเวลาที่มีการใช้งานจนทำให้ไม่สามารถเดินได้ในระยะท้ายของโรค
ผู้ป่วยโรคนี้มักเกิดการโก่งผิดรูปของข้อเข่าในระยะท้ายของโรค โดยมากมักจะพบว่าเป็นแบบขาโก่งแบบโค้งออก (Bow Legs) โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มักจะมีความเจ็บปวดในการใช้งาน เช่น นั่งพับเพียบ เดินขึ้นลงบันได ออกกำลังกาย เป็นต้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดตื้อๆ เจ็บแปลบเจ็บเสียวตามแนวบริเวณข้อเข่า แต่ลักษณะความปวดของโรคนี้อาจแสดงออกได้ในลักษณะอื่น เช่นอาจมีอาการขัดในข้อ ข้อยึด ขยับลำบาก โดยมักเป็นเวลานั่งหรือนอนอยู่กับที่นานๆ ความเจ็บปวดนี้มีแนวโน้มจะเป็นมากขึ้นตามลักษณะการทำลายผิวข้อที่มีมากขึ้น
อย่างไรก็ตามผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักพบมีการทุเลาจากการปวดได้เองแม้ไม่ได้รักษาเป็นระยะๆ โดยกระดูกอ่อนผิวข้อจะยังคงถูกทำลายมากขึ้น แต่ในที่สุดก็มักจะกลับมาปวดเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมเมื่อโรคลุกลามมากขึ้น อาการเจ็บปวดนี้จะทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมขยับข้อน้อยลง เดินได้น้อยลงหรือเดินไม่ได้ในที่สุด
การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมได้อย่างปกติ มีการทำมานานกว่า 40 ปีแล้ว ปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่พัฒนาไปอย่างมากทำให้การผ่าตัดสามารถทำได้ดีขึ้นไปอีก โดยมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วยผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหาที่พบได้บ่อยจากการผ่าตัดด้วยวิธีมาตรฐาน เนื่องจากในการผ่าตัดแบบปกติแพทย์จะใช้สายตาในการตรวจสอบว่ากระดูกที่ผ่าตัดได้มุมที่ต้องการหรือไม่ แต่ตามธรรมชาติแล้วความคลาดเคลื่อนของสายตามนุษย์ สามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 3-5 องศา ซึ่งในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนี้ ถ้าเกิดการคลาดเคลื่อนของการตัดกระดูก 3-5 องศา อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมจะมีโอกาสลดลงไปได้มาก ลักษณะขายังดูผิดรูปและการใช้งานก็อาจไม่ดีเท่าที่ควร
ดังนั้นความคลาดเคลื่อนดังกล่าวนี้ก็สามารถสร้างปัญหาได้ สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่า เครื่องเนวิเกเตอร์ นี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความคลาดเคลื่อนดังกล่าวได้มาก เนื่องจากจะสามารถรับรู้ความคลาดเคลื่อนได้ในมุมที่เล็กน้อยเพียง 0.5 องศา ในส่วนของการทำงาน เครื่องจะทำการคำนวณออกมาว่าต้องตัดกระดูกทำมุมเท่าไร อย่างไร จากภาพเสมือนจริงที่สร้างขึ้น และแสดงภาพการวางข้อเข่าเทียมที่ควรจะเป็น เพื่อให้เหมาะสมกับคนไข้ในแต่ละราย ซึ่งเครื่องนี้จะลดความคลาดเคลื่อนของการตัดกระดูกได้ และสามารถแก้ไขความผิดรูปของข้อเข่าได้ดี และช่วยในการจัดความตึงของเส้นเอ็นรอบข้อเข่าได้ดีขึ้น
ได้มีรายงานว่าการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัดจะสามารถลดการผ่าตัดซ้ำได้เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบปกติ โดยหลังผ่าตัดคนไข้ส่วนมากจะสามารถเดินช้าๆ โดยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงตัวในการเดินได้ภายใน 1 วัน คนไข้อาจจะยังมีอาการปวด หรือตึงเล็กน้อยบริเวณเข่าอยู่ระยะหนึ่งหลังผ่าตัดซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ
ทั้งนี้ในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมในแต่ละรายนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงอายุ น้ำหนัก ความหนาแน่นของมวลกระดูก สภาพร่างกายและจิตใจ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้ป่วยต้องการ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการ เจ็บ ปวด ขัด หรืออาการใดๆ ที่เกิดขึ้นกับข้อต่างๆ ของร่างกาย ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียด และสามารถถนอมรักษาข้อเข่าเดิมให้มีอายุยาวนาน รวมถึงได้คำแนะนำที่เหมาะสมหากต้องมีการผ่าตัดด้วย