รพส.ทองหล่อ เชิญกูรูด้านจักษุ เติมความรู้ด้านโรคตาแก่สัตวแพทย์ไทย

27

รพส.ทองหล่อ เชิญกูรูด้านจักษุ “ศ.เดวิด วิลกี้” เปิดหลักสูตรเติมความรู้ด้านโรคตาแก่สัตวแพทย์ไทย

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาโรคทางจักษุของสัตว์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อสัตว์ เพราะหากพบความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา เทคโนโลยีและการรักษาที่ดี รวมทั้งความรู้และความเชี่ยวชาญจากสัตวแพทย์ จะทำให้สัตว์ได้รับการรักษาอย่างตรงจุด แม่นยำ ทำให้สัตว์ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วย และมีชีวิตยืนยาวขึ้น

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางด้านจักษุวิทยาในสัตว์ ศูนย์โรคตา โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จึงได้เชิญ ศาสตราจารย์เดวิด วิลกี้ (Prof.David Wilkie) ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านจักษุวิทยา จากคณะวิทยาศาสตร์คลินิกสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาดวงตาในสัตว์ที่มีชื่อเสียง มาเปิดคอร์สอบรมในหัวข้อ The Essential of Veterinary Ophthalmology for Practitioner เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการรักษาและวินิจฉัยให้กับสัตวแพทย์ในประเทศไทยที่สนใจ

โดยคอร์สอบรมดังกล่าวได้เปิดกว้างให้กับสัตวแพทย์จากทุกโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศที่สนใจเรื่องการวินิจฉัยและรักษาด้านจักษุในสัตว์ ทั้งสัตวแพทย์ที่เริ่มสนใจในสาขานี้ รวมทั้งสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสัตวแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางไปอบรมที่ต่างประเทศ โดยผู้เข้าอบรมได้เรียนในหลักสูตรขั้นสูงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคทางจักษุวิทยา หลักสูตรนี้ได้มีการสอนในประเทศเยอรมนีมาเกือบ 20 ปี และสัตวแพทย์จากทั่วโลกต่างให้ความสนใจที่จะเรียนหลักสูตรนี้ ซึ่งความน่าสนใจของเนื้อหาในคอร์สนี้ทำให้ได้รับความสนใจจากสัตวแพทย์ไทย สมัครเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก โดยผู้เข้าอบรมได้เรียนหลักสูตรขั้นสูงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคทางจักษุวิทยา ผ่านการเรียนรู้ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติรักษาจริง โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรมเป็นเครื่องมือที่ทางศูนย์โรคตา รพส.ทองหล่อ นำมาใช้ในการรักษา ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้การวินิจฉัยและรักษามีประสิทธิภาพสูง

ในงานการอบรมครั้งนี้ ศาสตราจารย์เดวิด วิลกี้ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านจักษุในสัตวว่า “เทคโนโลยีการรักษาด้านจักษุในปัจจุบันมีความก้าวหน้าขึ้นทุกปี เราสามารถนำวิธีการรักษาในรูปแบบใหม่มาประยุกต์ใช้ ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีปัญหาและโรคที่ต่างกันไป ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เราสามารถวินิจฉัยโรคและมีแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อชีวิตสัตว์เลี้ยง”

“โรคที่เกี่ยวกับจักษุในสัตว์เล็กส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากพันธุกรรม นอกจากนี้ การเกิดบาดแผล การติดเชื้อในตา และโรคทางดวงตา อาจมีสาเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน ไตวาย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกยังอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังการแพร่กระจายและการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ มากขึ้นตามไปด้วย เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติในดวงตาของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติจะเห็นอาการได้อย่างชัดเจนเมื่อเกิดความผิดปกติใดๆ ขึ้นจะได้รีบรักษาอย่างทันท่วงที เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย” ศาสตราจารย์เดวิดให้ความรู้กับสัตวแพทย์ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถนำไปดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ด้วย