ศจย. หนุนรัฐเดินหน้าขึ้นภาษียาสูบ ชี้ถึงรายได้เยอะก็ยังไม่คุ้มเสีย

47
Image by Snap_it from Pixabay

ศจย. เปิดข้อมูลรายได้รัฐจากภาษียาสูบ ปี 61 จัดเก็บภาษีได้กว่า 71,009 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 60 มากถึง กว่า 4,000 ล้านบาท วอนขอรัฐบาล อย่าเลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ไม่เกิดประโยชน์ ควร win win ทุกฝ่าย ย้ำบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ของการเสียชีวิตของคนไทย ยอดตายสูง 54,610 คน ประมาณค่าสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์สูงถึง 74,884 ล้านบาท มากกว่ารายได้จากภาษียาสูบที่รัฐจัดเก็บได้

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  กล่าวถึงกรณีจะมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนเวลาการปรับเพิ่มภาษียาสูบเป็น 40% ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ว่า จากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ในปี 2557 ของแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย (BOD) พบว่า การเสียชีวิตของประชากรไทยจากปัจจัยเสี่ยงจากการสูบบุหรี่สูงถึง 54,610 คน จัดเป็นอันดับ 1 ของปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรไทยและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพอันเกิดจากการสูบบุหรี่ หรือร้อยละ 11.2 ของจำนวนการเสียชีวิตทั้งหมดในระหว่างปี 2550-2557

โดยในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูบบุหรี่เกือบ 3.6 ล้านคน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลมากกว่า 18,115 ล้านบาท ในมีขณะที่มีการนำเสนอข่าวประเด็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เก็บภาษีบุหรี่ได้ 2,479 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ต้นทุนการรักษาโรคที่เกิดจากสูบบุหรี่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับรายได้อันเกิดจากการจัดเก็บภาษียาสูบของ อบจ.

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า ขณะที่รายได้ภาษียาสูบที่เก็บได้จริงจากข้อมูลที่เปิดเผยของสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ปี 2561 ยอดรวมการจัดเก็บภาษียาสูบได้จริง 71,009.52 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าภาษียาสูบที่จัดเก็บได้ในปี 2560 มากถึง 4,473.66 ล้านบาท (ปี 2560 จัดเก็บภาษียาสูบได้ 66,535.86 ล้านบาท) แม้มีการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ โดยใช้อัตราภาษียาสูบใหม่ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2560 สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้สูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษียาสูบของกรมสรรพสามิต  อย่างไรก็ตาม แม้รายได้ภาษียาสูบจะสูงขึ้น แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ที่ประมาณการโดย BOD ระบุว่า ในปี 2552 ประเทศไทยมีความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เท่ากับ 74,884 ล้านบาท

“การขึ้นภาษีบุหรี่ รัฐบาลควรดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง และไม่ควรเลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2562 นี้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกเสนอ และสอดคล้องไปกับแนวคิดของธนาคารโลกที่เสนอว่า การเพิ่มภาษีบุหรี่  Win Win ทั้งฝ่ายสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การยาสูบแห่งประเทศไทย มักนำเสนอประเด็นเรื่องการขาดทุนจากการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ ซึ่งเป็นเพียงการพิจารณาในมุมเดียวเท่านั้น ที่ถูกต้องคือ “ต้องแยกการพิจารณารายได้จากภาษี ออกจากกำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทย” เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนต่อทิศทางการควบคุมยาสูบของประเทศไทย “เงิน กับ สุขภาพของประชาชน” ซึ่งควรเลือกสุขภาพดีกว่า”

ศ.นพ.รณชัย กล่าวถึงกรณีปัญหาที่ประชาชนอาจหันไปบริโภคยาเส้น หรือบุหรี่เถื่อน แท้จริงแล้วเป็นประเด็นปัญหาเรื่องประเทศไทยอัตราภาษียาเส้นยังคงต่ำมาก และเป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า ต้องขอขอบคุณ ท่านพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ที่มีแนวคิดเรื่องนโยบายการเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษียาเส้น และท่านยุทธนา หยิมการุณ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับดูแลบริหารการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย (กปบ.) ที่เดินทางลงภาคใต้เพื่อตรวจจับแหล่งขายบุหรี่หนีภาษี ซึ่งวิธีการแก้ปัญหา รัฐบาลต้องยกเครื่องระบบการป้องกันบุหรี่หนีภาษี โดยการร่วมลงนามสัตยาบันในพิธีสารเพื่อขจัดบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาบุหรี่หนีภาษีและบุหรี่ปลอมในระดับนานาชาติ