โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน ตีแผ่นโยบายพรรคการเมืองยังวนเวียนกับการแจกเงิน เน้นการศึกษาระบบแข่งขัน ขยายความไม่เท่าเทียม ไร้แนวคิดแก้ปัญหา พัฒนาศักยภาพสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชน ผนึกกำลัง 30 องค์กรจี้พรรคการเมือง “อย่าทิ้งเด็กเยาวชนไว้ข้างหลัง” ชูประกาศนโยบายปกป้องเด็กจากปัจจัยเสี่ยง หนุนตั้งกองทุนเพื่ออิสระเด็กและเยาวชน
เครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน 30 องค์กร อาทิ เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายปกป้องสิทธิ ฯลฯ เปิดเวทีวิพากษ์นโยบายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ และเครือข่ายฯได้แสดงละครล้อเลียน ชุด”หยุดลอยแพปัญหาเด็กและเยาวชน”
นายวันชัย พูลช่วย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในช่วงเวลานี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งของทุกพรรคการเมือง แต่ละพรรคมีนโยบายหลักที่ใช้รณรงค์การหาเสียงแตกต่างกันไปตามจุดยืนทางการเมือง แต่จากการเฝ้าติดตามของเครือข่ายฯ พบว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของแต่ละพรรคปรากฏอยู่ระดับหนึ่ง ยังคงมุ่งเน้นการสร้างสวัสดิการ ให้เงิน สารพัดรูปแบบ ชูการศึกษาที่เน้นแข่งขันสู่ความเป็นเลิศ สร้างความไม่เท่าเทียมในเด็กและเยาวชน ทุกอย่างยังมุ่งสู่สถานศึกษา ความทันสมัย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการรับมือกับปัญหาที่ถาโถมรายล้อมตัวเด็กและเยาวชน มีการพูดถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเด็กและเยาวชนที่เป็นปัญหาจริงๆน้อยมาก รวมไปถึงการพัฒนาเสริมสร้างทักษะชีวิตสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่ง ณ ปัจจุบันสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิชาการในระบบการศึกษา
“เราแทบไม่เห็นพรรคการเมืองใดมีนโยบายที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน อันเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น แทบไม่เห็นการสนับสนุนการรวมกลุ่ม กิจกรรมพัฒนาศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มที่ดีให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจยิ่ง” นายวันชัยกล่าว
นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน 30 องค์กร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ ซึ่งเด็กและเยาวชนต้องเผชิญมีหลายด้านด้วยกัน และนี่คือข้อมูลที่เราอยากเห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร 1.เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า18 ก่อคดีเข้าสู่สถานพินิจฯ มากกว่า 30,000 คนต่อปี เกือบครึ่งเป็นคดียาเสพติด รวมถึงเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันอีกเกือบหมื่นคนต่อปี 2.เด็กและเยาวชนติดยาเสพติด 300,000 คนต่อปี มีนักดื่มหน้าใหม่250,000 คนต่อปี 3.เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุปีละ 2,510 ราย ช่วงอายุ15-19 ปีเสียชีวิตสูงสุด บาดเจ็บและพิการนับไม่ถ้วน 4.เด็กและเยาวชนเล่นพนัน 3.6 ล้านคนต่อปีในจำนวนนี้ยอมรับว่าติดพนัน400,000 คน
5.ในรอบปีมีข่าวความรุนแรงทางเพศในเด็กและเยาวชน กว่า 317 ข่าว ผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุดเป็นเด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน ผู้ก่อเหตุกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัวกว่า 53% รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า และคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล ปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นถี่มากในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนสถิติการท้องก่อนวัยอันควรที่สูงเป็นอันดับสองของอาเซียน 6.เด็กและเยาวชนต้องเติบโตในพื้นที่เสี่ยง ไม่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต ขาดพื้นที่สร้างสรรค์ ขาดการสนับสนุนการรวมกลุ่ม 7.เด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต้องเผชิญกับปัญหา การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ด่าทอด้วยข้อความหยาบคาย ตัดต่อภาพสร้างข้อมูลเท็จ การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้า ติดเกม ถูกล่อลวง มีปัญหาสัมพันธภาพระหว่างคนในครอบครัว
นายสุรนาถ กล่าวต่อว่า เครือข่าย 30 องค์กร ขอแสดงจุดยืนต่อพรรคการเมืองดังนี้ 1.ขอแสดงความเสียใจต่อนโยบายของพรรคการเมือง ณ ปัจจุบันที่ยังไม่สะท้อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริงจนทำให้เราเป็นห่วงว่า “เด็กและเยาวชนไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”2.ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองมีนโยบายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ทั้งประเด็นยาเสพติด การพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ท้องก่อนวัยอันควร การถูกออกจากโรงเรียนกลางคัน และปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 3.มีนโยบายการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ลดพื้นที่เสี่ยงในชุมชน มีความปลอดภัยและ4.ขอให้พรรคการเมืองมีนโยบาย จัดตั้ง“กองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน” เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มในทางสร้างสรรค์พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เห็นศักยภาพ สร้างความเข้มแข็ง ทักษะชีวิตและส่งเสริมพลังเยาวชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมที่มีคุณภาพด้วยตัวเด็กและเยาวชนเองเป็นกองทุนที่เป็นอิสระเข้าถึงง่าย ไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการ