“เพชรบุรี ดีจัง” ต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ช่วงปิดเทอม

175

สสส. ผนึกกำลังคนเพชร ปลุกเมืองให้มีชีวิตชีวาด้วยศิลปะ วัฒนธรรม ผ่าน “มหกรรมสาธารณศึกษา เพชรบุรี ดีจัง สุโขสโมสร” ยึดหลัก 3 ส. สื่อสาร สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม ชูเป็น 1 ต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ ที่แข็งแรง ยั่งยืนช่วงปิดเทอม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เยาวชนเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง และภาคีเครือข่าย จัด “มหกรรมสาธารณศึกษา เพชรบุรี ดีจัง สุโขสโมสร” ซึ่งพื้นที่ จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ริเริ่มจัดกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2555 และถือเป็น 1 ในพื้นที่ที่สร้างสรรค์ที่เป็นต้นแบบของการจัดกิจกรรมในช่วงปิดเทอมอีกด้วย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากผลการสำรวจยูรีพอร์ต ที่สำรวจเด็กและเยาวชน พบว่า เด็ก 35% เห็นว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มีพื้นที่สร้างสรรค์น้อย 12% มองว่าไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ และ 42% อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนมากขึ้น การรณรงค์ให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์และบ่มเพาะสุขภาวะทางปัญญาผ่านกิจกรรม “เพชรบุรี…ดีจัง” จึงเป็นเหมือนสนามการเรียนรู้ในช่วงปิดเทอมขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้สัมผัสสื่อ ศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยใช้กระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมพลังผ่านยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม สร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนให้มีทักษะเท่าทันสื่อ (Media Literacy) ความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) และความตื่นรู้ทางปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องมือการพัฒนาพลเมืองนักสื่อสารสุขภาวะที่เป็นเด็กและเยาวชน ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงในชุมชน

“เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ภายในวิสัยทัศน์ “เด็กและเยาวชนมีความเป็นพลเมือง เก่ง ดี มีสุข และสร้างสรรค์” โดยในปี 2562 สสส. ได้จัดอบรมนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงกิจกรรมที่น่าสนใจอุดช่องโหว่ที่สำรวจพบว่า มีเด็กกว่า 43% เข้าไม่ถึงกิจกรรมอะไรเลยเพราะบ้านอยู่ไกล โดยนำร่องเพิ่มในพื้นที่ 15 จังหวัด กิจกรรมทั้งหมดจะรวบรวมอยู่ในเว็บไซต์ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com มีกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ที่กระจายทุกภูมิภาคถึง 1,248 กิจกรรม รวมถึงการเปิดรับตำแหน่งงานพิเศษ 10,000 ตำแหน่ง เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่แสดงออกและพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทั้งทางด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม จิตอาสา และอื่นๆ และได้เผยแพร่ผลงานกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์” ดร.สุปรีดา กล่าว

นางกรรณิกา เอี้ยวสกุลรัตน์ วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า พื้นที่เพชรบุรี ดีจัง สะท้อนถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานของ สสส. ที่ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มเด็ก เยาวชน มีพื้นที่แสดงออกและพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทั้งทางด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี งานฝีมือ และได้เผยแพร่ผลงานกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ จนเกิดความภาคภูมิใจและเกิดพลังในการพัฒนาตนเองและแบ่งปันกับสังคมต่อไป และส่งเสริมให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มครอบครัว สร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและจังหวัดในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านท่องเที่ยว เชิงศิลปวัฒนธรรม เป็นโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด ตลอดจนนโยบายรัฐบาลสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนอย่างทั่วถึง

นางสาวสุนิสา ประทุมเทือง แกนนำเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง กล่าวว่า มหกรรมครั้งนี้กลุ่มเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรีดีจังเป็นเจ้าภาพหลักในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เป็นปีแรก มีส่วนร่วมตั้งแต่การเตรียมงาน พิธีกรเปิดงาน อาสาสมัครประจำแต่ละลานกิจกรรม โดยเกิดจากกลุ่มเยาวชน 10 กลุ่ม ในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดเพชรบุรีรวมตัวกัน เกิดเป็นกิจกรรมกว่า 50 กิจกรรม สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เด็กและเยาวชนสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ขึ้นต่อสังคม เยาวชนในพื้นที่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด มีความภาคภูมิใจในชุมชน และตนเองมากขึ้น และได้สานสัมพันธ์ภายในชุมชนโดยเฉพาะเด็กกับผู้ใหญ่ก็ใกล้ชิดกันมากขึ้น ในปีนี้ใช้ชื่อว่า ‘มหกรรมสาธารณศึกษา เพชรบุรี ดีจัง สุโขสโมสร’ ซึ่งหมายถึง พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในชุมชนบนรูปแบบที่หลากหลายสำหรับทุกๆ คน ตามแนวคิดกิจกรรม พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา ด้วยพลังภูมิปัญญาและพลังพลเมือง โดยใช้หลัก 3 ส. คือ สื่อสาร สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม เพื่อให้เกิด สื่อดี พื้นที่ ภูมิดี นำสังคมไปสู่ ชุมชนวิถีชีวิตสุขภาวะ

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมและการแสดงได้ที่ Facebook : เพชรบุรี ดีจัง และกลุ่มลูกหว้า เพชรบุรี