ระบบการดูแลสุขภาพของคนไทย ยังคงเป็นความท้าทายของรัฐบาลทุกสมัย เพราะแม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและบริการทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปมาก แต่อัตราการเข้าถึงของประชาชนยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แนวคิดของศูนย์พยาบาลชุมชนจึงเกิดขึ้น เพื่อรองรับการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น
โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นจาก ศ.เกียรติคุณ นพ. ประเวศ วะสี ซึ่งได้เข้าร่วมในเวทีพัฒนานโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาบทบาทพยาบาลผู้จัดการระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อรับมือสถานการณ์สังคมสูงอายุ โดยมี สสส. เป็นผู้จัดงาน
ศ.เกียรติคุณ นพ. ประเวศ วะสี กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีศูนย์พยาบาลชุมชน บริการใกล้บ้านใกล้ใจ ที่มีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด ศูนย์พยาบาลชุมชน 1 แห่ง ต่อประชากร 1 พันคน แต่ละแห่งมีพยาบาล 1 คน และผู้ช่วยพยาบาล 2 คน ทำหน้าที่ดูแลคนในชุมชนอย่างครบวงจร มีการเก็บข้อมูลประวัติการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาลในระบบคอมพิวเตอร์ จุดเด่นคือ เมื่อเป็นศูนย์พยาบาลของชุมชน ทำให้พยาบาลใกล้ชิดและรู้จักทุกคนในพื้นที่ มีความสัมพันธ์แบบญาติมิตร ไม่ใช่คนแปลกหน้าระหว่างกัน ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการ โดยมีค่าบริการรายหัวต่อปี และให้หน่วยวงานท้องถิ่นจัดงบฯ สมทบ การจัดระบบบริการเช่นนี้จะทำให้คนแต่ละชุมชนมีสุขภาพดี อัตราการเจ็บป่วยลดลง เมื่อทุกชุมชนทั่วประเทศไทยมีผู้ป่วยน้อยลง จะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประเทศโดยรวมในที่สุด
นอกจากนั้นในเวทีดังกล่าว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ(สำนัก 7) สสส. กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับพยาบาลเป็นระยะเวลาหลายปี เห็นได้ว่าพยาบาลเป็นนักจัดการในระบบสุขภาพที่สำคัญ ปัจจุบันความท้าทายในระบบสุขภาพไทยคือการรักษาที่ดีและการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ จึงต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เป็น Health Manager หรือนักจัดการสุขภาพ เพราะจะทำให้รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาได้แม้ไม่ใช่พยาบาลวิชาชีพก็ตาม เพราะสถานการณ์สุขภาพในปัจจุบันเปลี่ยนไป การมีสุขภาพดีไม่ได้มาจากการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย
รองศาสตร์จารย์ ดร. ทัศนา บุญทอง นายกสภาพยาบาล กล่าวว่า วิชาชีพพยาบาลมีความสำคัญต่อวงการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ สสส. และสภาการพยาบาลได้ขับเคลื่อนงานร่วมกันโดยตรง ซึ่ง สสส. เข้ามาสนับสนุนการศึกษาหารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนทั่วประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น ได้มีการส่งแบบสอบถามไปยังพื้นที่ใน 300 แห่ง และลงพื้นที่จริงเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ถอดบทเรียนจาก 162 แห่งที่ผ่านการคัดเลือก เป็นองค์ความรู้ต้นแบบในแต่ละภูมิภาค ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะนำการถอดบทเรียนจาก 4 พื้นที่ต้นแบบแต่ละภูมิภาคไปปฏิบัติใช้ให้เข้ากับบริบทชุมชนแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเข้ามาโอบอุ้มดูแลผู้สูงอายุในชุมชนไม่ให้ใครแม้แต่คนเดียวถูกทอดทิ้ง ซึ่งพยาบาลมีความสำคัญในระบบสุขภาพมากโดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุที่ต้องดูแลต่อเนื่องจากโรงพยาบาลไปจนถึงในชุมชน
สำหรับข้อเสนอของสภาการพยาบาลในการจัดการให้พยาบาลเป็นผู้จัดการระบบสุขภาพในทุกพื้นที่ตามแผนที่วางไว้ 6 ข้อ คือ
- การสร้างบุคลากรในการดูแลระยะยาว โดยวางแผนผลิตพยาบาลเพื่อรองรับระบบนี้ประมาณ 70,000 คน ซึ่งต้องผลิตเพิ่มอีกปีละ 3,000 คน
- การดูแลอย่างเท่าเทียมในทุกกลุ่ม
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะให้ความสำคัญต่อระบบส่งต่อ
- สนับสนุนให้มีศูนย์บริการผู้สูงอายุช่วงกลางวัน หรือ Day Care Services Center
- การสร้างเครือข่าย การทำงานเชื่อมกันหลายตำบลทั้งจังหวัดหรือสร้างเครือข่ายในระดับเขตเพื่อพัฒนาเครือข่ายในการดูแลระยะยาว
- องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ควรพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยติดเตียง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การดูแลตั้งแต่แรก โดยอาจเริ่มการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชากรในชุมชนตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป