อยู่อย่างไร ในสภาพอากาศร้อนจัด

144

แม้จะรู้ดีว่าเมืองไทยจะต้องเจอกับสภาพอากาศร้อนในทุกๆ ปี แต่เมื่อย่างเข้าเมษา สิ่งที่ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันคือคำว่า “ร้อนมาก” เหมือนไม่เคยเจอเรื่องนี้มาก่อน แต่นอกจากความหงุดหงิดรำคาญใจแล้ว หน้าร้อนยังนำมาโรคภัยมาเยือนอีกหลายประการ เฉพาะอุณหภูมิที่พุ่งสูงก็อาจจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเป็นอันตรายได้ วันนี้มาฟังคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขว่า เราจะรับมือกับหน้าร้อนอย่างไร แล้วใครที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษกันบ้าง

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีอุณหภูมิสูง ทำให้อากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน  มีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี อาจทำให้ประชาชนได้รับความร้อนมากจนเกินไปและเกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน  จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ระหว่างปี 2558-2561 มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน จำนวน 56, 60, 24, 18 ราย ตามลำดับ โดยอาการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน อาจเป็นเพียงเล็กน้อยจนถึงเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่น  ผดแดด บวมแดด ลมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด และกลุ่มที่มีอาการรุนแรงจนอาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นต้น

การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ ซึ่งสาเหตุมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.อุณหภูมิของอากาศที่ร้อน  2.ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงขึ้น  3.อยู่กลางแจ้งหรืออยู่ในที่ที่อาจได้รับรังสีความร้อน และ  4.สภาวะที่มีลมหรือการระบายอากาศน้อย เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่  1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เกษตรกร นักกีฬา และออกกำลังกาย  2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ  3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง  4.คนอ้วน  5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ  6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายแพทย์สุวรรณชัย  กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้

  1. สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี
  2. ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  3. ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ
  4. สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง
  5. ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก
  6. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  7. อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก  ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และเป็นเวลาที่เหมาะสม

หากสงสัยผู้มีอาการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติควรรีบนำส่ง โรงพยาบาลทันที สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422