“คนไร้บ้าน” ค้นโอกาสในสังคมอันเปราะบาง

503

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า เมื่อโลกเกิดการพัฒนาขึ้นที่ไหน ปัญหาของความเหลื่อมล้ำก็มักจะตามมา ดังเช่นประเด็นของ “คนไร้บ้าน” (Homeless) ที่มักจะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มของจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

คนไร้บ้าน เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง มักกินอยู่หลับนอนในพื้นที่สาธารณะหรือศูนย์พักพิงในความดูแลของหน่วยงานที่รับผิดชอบ สาเหตุหลักมาจากปัญหาความยากจนและความไม่แน่นอนทางรายได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัยกลางคน แม้เราจะเห็นว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะมีงานทำ แต่ก็เป็นงานรับจ้างรายวัน หรืองานเก็บของเก่ามาขาย ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนและมีจำนวนน้อยพอประทังแค่อาหารบางมื้อ

 

เมื่อเร็วๆ นี้มีการจัดงาน Human of Street: เราล้วนเปราะบางกลางเมืองใหญ่ เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นความสำคัญของประเด็นคนไร้บ้าน ที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาและความเปราะบางทางสังคมที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องประสบ ทั้งความไม่มั่นคงทางด้านอาชีพ การเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพของรัฐ และการขาดโอกาสในการยกระดับชีวิตของตนเอง

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. เปิดเผยว่า ข้อมูลทางวิชาการของ สสส. พบว่า คนไร้บ้านกว่าร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการทางสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้คนไร้บ้านมีอายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยถึงกว่า 10 ปี ที่น่าสนใจคือ คนไร้บ้านส่วนมากมีงานทำ แต่เป็นงานที่สร้างรายได้น้อย ไม่มั่นคงและเพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือแม้แต่การหาที่พักอาศัย คนไร้บ้านจึงมีความต้องการในการประกอบอาชีพที่ทำให้พวกเขามีคุณภาพชิวิตที่ดีขึ้น หากแต่ยังขาดโอกาสและการหนุนเสริมจากสังคม

ดังนั้น สสส. จึงเข้าไปหนุนเสริมการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมในการทำให้คนไร้บ้านที่ประสบกับภาวะความเปราะบางที่มีจากปัจจัยเศรษฐกิจ ครอบครัว และปัจจัยส่วนบุคคลให้สามารถลุกขึ้นมาจัดการตนเองได้ อาทิ การพัฒนาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิ การเข้าถึงที่พักอาศัยชั่วคราวหรือภาวร การฟื้นฟูสภาพจิตใจ การสร้างอาชีพที่เหมาะสม และการกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน

สำหรับ การจัดงาน Human of Street: เราล้วนเปราะบางกลางเมืองใหญ่ ในครั้งนี้ สสส. มีความมุ่งหวังว่าจะสร้างความเข้าใจต่อคนในสังคมในประเด็นคนไร้บ้าน อันจะนำไปสู่การเปิดใจ เปิดโอกาสของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และคนทั่วไปให้กับคนไร้บ้าน ให้มองเห็นกลุ่มคนไร้บ้านในฐานะที่เป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมในสังคม ไม่ทอดทิ้งหรือหลงลืมใครไป เพราะความเป็นธรรมในสังคมเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนล้วนพึงได้รับ

 

ทางด้าน ดร. สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.กล่าวว่า  การสื่อสารในเรื่องราวของคนไร้บ้าน เป็นหนึ่งในพันธกิจที่สถานีไทยพีบีเอสให้ความสำคัญ ในบทบาทของสื่อสาธาณะไทยพีบีเอสพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะสะท้อนความหลากหลายของสังคม เป็นพื้นที่ให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้แสดงออกอย่างเหมาะสมทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ ด้วยการผลิตเนื้อหาที่เน้นไปสู่การแก้ปัญหาของสังคมอย่างยั่งยืน การยกระดับความเป็นธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่การสื่อสารในประเด็นคนไร้บ้านด้วยมิติและทัศนคติใหม่อย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนความเห็นของภาคพลเมืองอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ขณะที่ นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ มีแนวคิดสำคัญในการสะท้อนภาพให้เห็นว่าความเปราะบางและความไม่แน่นอนที่คนไร้บ้านต้องพบเจอในแต่ละวัน มีสถานการณ์ที่อาจไม่แตกต่างกับความไม่แน่นอนและความเปราะบางที่คนส่วนใหญ่ในเมืองต้องพบเจอ เช่น ความไม่แน่นอนจากการทำงานและรายได้ การเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ หรือการเข้าไม่ถึงความมั่นคงในมิติต่างๆ ของชีวิต เป็นต้น ดังนั้น การสร้างสวัสดิการที่ดีทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ และสังคมให้กับคนไร้บ้าน รวมถึงการสร้างโอกาสในทางสังคม จึงหมายถึงการสร้างหลักประกันให้กับสังคมโดยรวม

ทางด้าน นายสมพร หารพรหม จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ในฐานะผู้ที่ทำงานกับคนไร้บ้านมาเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  การทำให้ของเราและเครือข่ายคนไร้บ้าน มีเป้าหมายสำคัญคืออยากให้พวกเขาได้รับสิทธิและได้มองเห็นทัศนคติทางสังคมมันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะว่าคนไร้บ้านถูกมองในแง่ลบเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาถูกมองว่าเป็นพวกขี้เกียจ ไม่รู้จักทำมาหากิน พวกอาชญากรรม ขี้ขโมย และสกปรก ทุกสิ่งจะมาลงอยู่ที่พวกเขาหมด เพียงแต่ว่าที่ยกตัวอย่างมามันคือ ทัศนคติทางสังคมที่มองพวกเขาแบบนั้น แต่ที่จริงแล้วพวกเขาไม่ใช่คนแบบนั้นทั้งหมด พวกเขาถูกเหมารวมและตีตราไปแล้ว ซึ่งเราพยายามให้เขาลุกขึ้นมาและบอกกับสังคมว่าพวกเขาไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด