ภาวะออทิซึ่มในปัจจุบันยังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยมีรายงานว่า ในประเทศไทยพบสัดส่วนของเด็กที่อยู่ในภาวะนี้ 1:59 คน โดยในประเทศไทย มีจำนวนบุคคลออทิสติก มีจำนวนกว่า 300,000 คน เป็นผู้ที่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองเพียง 200 คนเท่านั้น แต่หากบุคคลเหล่านี้ได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะเพื่อการทำงาน ก็จะช่วยสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนเหล่านี้
ล่าสุด พก. จับมือ มูลนิธิออทิสติกไทย และภาคเอกชน จัดงาน วันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก 2 เมษายน พร้อมเปิดศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก แห่งแรกในประเทศไทย ตั้งเป้าเป็นศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรม ในระดับภูมิภาคอาเซียน
นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการและอ่านสาสน์ “วันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก” WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD) พร้อมเปิดศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก (CP – True Autistic Thai Foundation Vocational Training Center) ซึ่งเป็นศูนย์เตรียมความพร้อมบุคคลออทิสติกเข้าสู่การจ้างงานแห่งแรกของประเทศไทย ณ มูลนิธิออทิสติกไทย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
นางธนาภรณ์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประกาศให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะออทิสซึม เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ เข้าใจ และยอมรับบุคคลออทิสติก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาวะทีดี เพื่อให้บุคคลออทิสติกได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ ในฐานะพลเมืองของประเทศและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม รวมถึงการเรียนรู้ ฝึกทักษะด้านอาชีพให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และพึ่งพาตนเองได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น สถิติจากการสำรวจของหลายประเทศ พบสัดส่วนเด็กที่มีภาวะออทิซึม สัดส่วนในเด็ก 59 คน จะพบเด็กที่มีภาวะออทิซึม 1 คน เรียกแบบสัดส่วนว่า 1:59 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเท่าเทียม สอดคล้องกับอนุสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ภายใต้แนวคิดหลัก 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การสร้างสังคมที่ปราศจากอุปสรรคต่อคนพิการ (Barrier – Free) 2) การเสริมพลังคนพิการ (Empowerment) และจากสถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 1,979,829 คน พบผู้ที่มีความพิการออทิสติกจำนวน 12,771 คน โดย พก. มีหน่วยงานในสังกัดที่ดูแลบุคคลออทิสติก 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จังหวัดนนทบุรี และศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จังหวัดขอนแก่น
นางธนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ (2562) กระทรวง พม. โดย พก. ร่วมกับ มูลนิธิออทิสติกไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงาน “วันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก” WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD) ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก : การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน” (Assistive Technologies, Active Participation) มุ่งเน้นให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียม ให้กลุ่มคนออทิสติก สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (The Sustainable Development Goals:SDGs) และอีกหนึ่งขั้นของการก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก (CP – True Autistic Thai Foundation Vocational Training Center) ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับบุคคลออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ รวมถึงเป็นศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ในการพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนับเป็นการต่อยอดสู่การพัฒนาทักษะอาชีพต่างๆ ที่เหมาะสมกับระดับศักยภาพของบุคคลออทิสติก และนำไปสู่การจ้างงาน ทั้งในมาตรา 33 และมาตรา 35 อีกด้วย
ทั้งนี้ กิจกรรมในปีนี้ (2562) มีความพิเศษ คือ จัดกิจกรรมเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) การประชุมวิชาการ ณ โรงแรมพาลาสโซ่ ในวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2562 และ 2) พิธีเปิดโครงการรณรงค์ วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD) และเปิดศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก (CP – True Autistic Thai Foundation Vocational Training Center) ซึ่งเป็นศูนย์เตรียมความพร้อมบุคคลออทิสติกเข้าสู่การจ้างงานแห่งแรกของประเทศไทย รวมถึง เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ภายในมูลนิธิฯ ได้แก่ นิทรรศการ True – CP – Autistic Thai Foundation ศูนย์การเรียนรู้ Learning Center ห้องฝึกทักษะประสาทสัมผัส Sensory ห้องฝึกทักษะอาชีพ งานสำนักงาน ห้องคอมพิวเตอร์ ร้านกาแฟ For All Thai ร้าน Art Story By Autistic Thai ร้าน True Coffee และบูธชมรมผู้ปกครองออทิสติกจากจังหวัดต่างๆ
“ปัจจุบันจำนวนบุคคลออทิสติกในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 300,000 คน พบว่า เป็นผู้ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้ประมาณ 200 คนเท่านั้น ในวันนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ที่เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพกลุ่มบุคคลออทิสติกอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าว พร้อมที่จะเป็นศูนย์เพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพควบคู่กับทักษะทางสังคมด้านต่างๆ ให้แก่บุคคลออทิสติกทั่วประเทศ รวมถึงเป็นพื้นที่ค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมในระดับภูมิภาคเอเชีย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่จะเข้ามามีร่วมขยายผลและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อส่งมอบของขวัญพิเศษแก่บุคคลออทิสติก เนื่องในโอกาสวันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลกอีกด้วย” นางธนาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย