เพราะเวลาไม่มีย้อนกลับ ย้ำ! “ดื่มไม่ขับ” ช่วยดับฝันร้ายของทุกคน

34

สสส.-สคอ. และภาคีฯ ชวน “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” สถิติย้อนหลัง 3 ปี พบบาดเจ็บเสียชีวิตเพราะดื่ม 23,954 คน เฉลี่ยปีละ 7,985 คน รวมมูลค่า 4,762 ล้านบาท พร้อมหนุนบังคับกฎหมายเข้มข้น  ด้านเหยื่อเคราะห์ร้ายประณามพฤติกรรมดื่มแล้วขับ สร้างความสูญเสีย แลกชีวิตที่ดีเหมือนเดิมไม่ได้  

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด  สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ  และผู้ประสบเหตุจากคนดื่มแล้วขับ จัดงานแถลงข่าว “สงกรานต์ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย  ปี 2562” จัดโดย เพื่อสร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชวนดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว ลดความสูญเสียอันมาจากอุบัติเหตุทางถนนที่ป้องกันได้  

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.  กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 20,000 กว่าคนต่อปี หรือวันละกว่า 60 ศพ  สงกรานต์ปี 2561 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 3,724 ครั้ง บาดเจ็บ 3,897 คน  เสียชีวิต 418 คน สาเหตุหลักดื่มแล้วขับ ขับเร็ว  ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง เช่น ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  มีโอกาสเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็น 2 เท่า  และปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 100  มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเป็น 6 เท่า  และปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงถึง 40 เท่า  ขณะที่ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่ปี 2559-2561 ระบุว่ามีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่ม จำนวน 23,954 คน เฉลี่ยปีละ 7,985 คน มูลค่าความสูญเสียคิดเป็น 4,762 ล้านบาท  เฉลี่ยปีละ 1,587 ล้านบาท และยังพบว่าผู้เสียชีวิตที่ขับขี่รถจักรยานยนต์เกือบ 50% เดินทางออกไปเสียชีวิตในรัศมี ไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากบ้านของตัวเอง หรือ ขับรถใกล้แค่นี้ แต่ชีวิตเปลี่ยน โดยกว่า 41% เป็นหัวหน้าครอบครัว

“สสส. ได้รณรงค์ขับเคลื่อน หนุนเสริมและผลักดันการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุตลอดทั้งปี โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย ตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทั่วประเทศ  เพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ดื่มแล้วขับให้จริงจังและต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งในปีนี้ สสส. ได้รณรงค์โดยใช้หัวข้อ “สงกรานต์ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” โดยทำควบคู่ไปกับการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามากกว่า 164 พื้นที่ มีถนนตระกูลข้าว จำนวน 51 แห่ง นอกจากนี้ยังผลิตคลิปวิดีโอรณรงค์ผ่านบทเพลง “คิดถึงบ้าน” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการเดินทาง เพื่อให้ทุกคนกลับบ้านไปหาครอบครัวอย่างปลอดภัย” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

นายพรหมมินทร์  กัณธิยะ  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)  กล่าวว่า สงกรานต์นี้ประชาชนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถช่วงกลางคืน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ร่วมใช้เส้นทางที่ดื่มแล้วขับ ซึ่งคนขับรถควรพึงตระหนักว่าห้ามดื่มสุราเด็ดขาด ส่วนผู้โดยสารและคนเล่นน้ำห้ามยื่นสุราให้คนขับรถเช่นกัน กรณีขับขี่รถจักรยานยนต์ต้อง “ดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว สวมหมวกนิรภัย” ผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกิน 50 mg%  มีอัตราโทษโทษจำคุก 1  ปี  ปรับ 10,000-20,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ พักใบอนุญาต 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  จำคุก 3-10 ปี  ปรับ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ เพิกถอนใบอนุญาต และผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 150 mg% ศาลจะสั่งใช้กำไลคุมประพฤติทันที และมีคำสั่งห้ามออกนอกบ้านในยามวิกาล  ฝากถึงทุกครอบครัวต้องดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ดี อย่าให้ชีวิตต้องตกอยู่ให้ความลำบากเพียงเพราะความสนุก ฉลองแต่พอประมาณ เล่นน้ำอย่างปลอดภัย  ไม่ออกไปนอกบ้านให้ชีวิตมีความเสี่ยง “ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย” 

นางสาวรุจิเรข คุมโสระ ผู้ประสบเหตุจากคนดื่มแล้วขับ จ.ปทุมธานี  เปิดเผยว่า เมื่อปีก่อน ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก  หลังจากเลิกงานได้นั่งรถตู้ของร้านรวมกับพนักงานคนอื่นๆอีก 7 คน  ซึ่งตนนั่งหน้าข้างคนขับและหลับไป เมื่อรถแล่นไปได้ประมาณ 1 กม. คนที่โดยสารไปด้วยกันเล่าให้ฟังภายหลังว่า คนขับขับรถเร็วมาก  พอถึงจุดเกิดเหตุทางโค้งบังคับรถไม่ได้ เสียหลักพลิกคว่ำ พุ่งข้ามเกาะไปอัดกับเสาไฟฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นฝั่งที่ตนเองนั่งพอดี หลังเกิดเหตุคนขับรถตู้มีอาการกระดูกสันหลังร้าว และยอมรับว่าดื่มมา ส่วนคนอื่นบาดเจ็บเล็กน้อย  แต่ที่น่าเศร้าใจคือตนเองบาดเจ็บสาหัสที่สุด ปัจจุบันกลายเป็นผู้พิการ สูญเสียการควบคุมและความรู้สึกตั้งแต่ช่วงเอวลงไป

“ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ดิฉันต้องสูญเสียโอกาสหลายอย่างในการใช้ชีวิต จากที่เคยมีรายได้หลักหมื่นเหลือแค่หลักพันบาทต่อเดือน ตอนแรกคิดว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องไกลตัว พอเกิดขึ้นกับตนเองจึงรู้ว่าในสังคมไทยยังมีคนเมาแล้วขับรถบนถนนอีกมาก สร้างผลกระทบให้กับคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เปรียบเหมือนกับตัดอนาคตเขาและครอบครัวของเขาไปด้วย สิ่งที่ดิฉันได้กลับมาจากคนดื่มแล้วขับมีเพียงคำว่า “ขอโทษ” แต่ชีวิตของผู้กระทำผิดยังไปต่อได้อย่างสวยงาม ทิ้งอีกชีวิตไว้กับความพิการ จึงขอฝากเตือนถึงคนที่กำลังวางแผนจะขับรถเดินทาง ไม่ว่าจะไปคนเดียวหรือไปกับครอบครัว ขอให้มีสติอยู่เสมอ เพราะคำว่า ‘ถ้าย้อนเวลากลับไปได้’ แท้จริงแล้วไม่สามารถเป็นไปได้” น.ส.รุจิเรข กล่าว