สัญญานเตือนโรคลมแดด เป็นแล้วต้องทำอย่างไร

24

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนต่างทยอยเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดกันนี้ นอกจากการเตรียมตัวในการเดินทางกลับอย่างปลอดภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติยังได้ออกคำเตือนอีกหนึ่งอาการป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงเดือนเม.ย.นี้

เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)ระบุว่า ในช่วงเดือนเมษายนนี้แล้ว อุณหภูมิสูงขึ้นและสภาพอากาศของแดดก็จัดจ้าอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ง่ายๆ โดยเฉพาะ “โรคลมแดด” หรือ “โรคฮีทสโตรก” (Heat Stroke) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง กระหายน้ำ มึนงง วิงเวียนศีรษะ ตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องทันท่วงทีมีอันตรายอาจถึงชีวิตได้

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.)กล่าวว่า  สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก คือ ไม่มีเหงื่อออก แม้อากาศจะร้อนมากก็ตาม แตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะกล่าวว่า โรคลมแดดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะมีโอกาสในการเสียชีวิตสูง หากพบแพทย์ไม่ทันท่วงที และโรคลมแดดเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่กับคนที่ร่างกายแข็งแรงโดยคนที่เป็นลมแดดนั้นสมองจะไม่ทำงาน รวมถึงไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้ และอุณหภูมิในร่างกายจะเพิ่มสูงกว่าปกติถึง 40 องศา ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคนี้อย่างง่ายๆ คือ 1.ไม่มีเหงื่อออก 2.กระหายน้ำมาก 3.ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ และ 4.คลื่นไส้อาเจียน หายใจเร็ว หากเกิดอาการดังกล่าวนี้จำเป็นต้องหยุดพักทันที และรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669

“สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคลมแดด เบื้องต้นผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องลดระดับความร้อนของร่างกายผู้ป่วยลงให้เร็วที่สุด ด้วยการจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกเท้าให้สูงขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณเลือดที่ไหลเวียนกลับสู่หัวใจให้มากขึ้น คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือใช้ถุงใส่น้ำแข็งประคบตามลำคอ ลำตัว แขน-ขา ข้อพับต่างๆ ร่วมกับการใช้พัดหรือใช้พัดลมเป่า จะสามารถช่วยลดความร้อนในตัวลงได้ แต่หากผู้ป่วยมีการอาเจียนให้นอนตะแคงก่อน เมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง แล้วให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.)กล่าว