สารพัดโรคจากความเค็ม แนะ 3 วิธีลดเค็ม ลดโรค

29

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากพฤติกรรมการกินของคนไทย ที่ชื่นชอบอาหารรสจัด นิยมใช้เครื่องปรุงรสทั้งขั้นตอนการประกอบอาหารและเติมลงไปอีกก่อนรับประทาน ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยชินกันมานาน แต่รู้ไหมว่า นี่คือตัวการร้ายที่สะสมจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ วันนี้จึงมีวิธีการลดเค็มเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีกัน

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม จัดการประชุมเรื่องแนวทางลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร  คณะกรรมการบริหารแผนส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย เทียบเท่าฟินแลนส์และนอร์เวย์ แต่ NCDs ยังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย สูญเสียรายจ่ายทางสุขภาพ 99,000 ล้านบาทต่อปี ทุก 1 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิต 37 คน สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม พบว่า แนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี หากร่วมลดการบริโภคเค็มของคนไทย จะช่วยลดความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเห็นผล

พญ.เรณู การ์ก องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคเกลือเกินมากเกินไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนไทยมากกว่า 20,000 คนต่อปี เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคไต ทุกๆ คนควรต้องตระหนักถึงปริมาณของโซเดียมที่ตนเองบริโภค และจำกัดการบริโภคให้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า วิธีการลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย ทำได้ง่ายๆ ด้วย 3 ลดคือ 1. ลดการเติม โดยเฉพาะการเติมเครื่องปรุง 2. ลดการกินน้ำปรุง เช่น น้ำส้มตำ น้ำยำ น้ำแกง และ 3. ลดการกินอาหารแปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก ไตปลา ปลาร้า พริกแกง และกะปิ เพราะในแต่ละวันคนไทยควรบริโภคโซเดียมเทียบเท่ากับเกลือไม่เกิน 1/3 ช้อนชาต่อมื้อ หรือน้ำปลาไม่เกิน 2/3 ช้อนชาต่อมื้อ สสส. ได้ร่วมสร้างความตระหนักในสังคมด้วยการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เกิดสิ่งแวดล้อมลดการบริโภคเค็ม ปลูกฝังความฉลาดรู้ตั้งแต่ในวัยเด็กผ่านหลักสูตรลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

ผศ.นพ.สุรศักดิ์  กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า จากงานวิจัยการสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสอาหารท้องถิ่น โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้เครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในประเทศไทย ปริมาณโซเดียมจากอาหารยอดนิยมของแต่ละภูมิภาคจากการปรุงโดยอาสาสมัครแม่บ้านในท้องถิ่นและจากร้านค้า พบว่า อาหารยอดนิยมของทุกภูมิภาคมีปริมาณโซเดียมสูง แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมติดรสเค็ม ทั้งๆ ที่วิถีการผลิตดั้งเดิมไม่มีการเติมสิ่งเหล่านี้ ทำให้มีปริมาณโซเดียมที่ไม่ได้มาจากเกลือเพื่อถนอมอาหารสูงเกินความจำเป็น

พญ.ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแนวทางลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนบริโภคเกลือลดลง 30% ภายในปี 2568 โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายลดการบริโภคโซเดียม ส่งเสริมให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมการบริโภคอาหารโซเดียมต่ำ เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ ผลักดันภาคอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารให้ผลิตอาหารลดโซเดียม ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมเพื่อลดการบริโภคโซเดียม รวมทั้งกระบวนการติดตามเฝ้าระวัง พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผู้บริโภคจากอาหารที่มีโซเดียมสูง ลดการป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์อาหารที่ลดปริมาณโซเดียมลง