ทิ้งจอ! ออกมาเล่น แค่วันละ 60 นาที  กระตุ้นสมองสร้างการเรียนรู้

25

เป็นที่ทราบว่า เด็กๆ ในปัจจุบันนี้มีพฤติกรรมที่เกาะติดอยู่กับหน้าจอ ทำให้การเล่นในโลกจริงๆ ถูกทิ้งห่างออกไป พฤติกรรมเหล่านี้ เรียกรวมๆ ว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ซึ่งผลที่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน  

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้มีการโครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย อายุระหว่าง 8 – 15   ปี ให้มีสุขภาวะที่ดีเหมาะสมตามวัย  และเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ครู ผู้ปกครอง ถึงความสำคัญในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ทั้ง 3 มิติ ลดการเนือยนิ่ง รวมไปถึงเพื่อสานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ขยายผลการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในวงกว้างต่อสังคมไทย หลังจัดกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษานำร่องทั่วประเทศ

รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา ภายใต้แนวคิด “ออกมาเล่น แอคทีฟ 60 นาทีทุกวัน” ถือเป็นโครงการต่อยอดและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้ขยายไปในวงกว้าง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากประชากรวัยเด็กเป็นช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโตทั้งในด้านพัฒนาการทางร่างกายและสมอง ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าปัจจุบันเด็กไทยจำนวนมากที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น น้ำหนักตัวเกิน สมาธิสั้น หรือพัฒนาการไม่สมวัย เนื่องจากถูกมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือพฤติกรรมหน้าจอที่มากเกินไป

“สสส.ได้ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม เพื่อดำเนินการตามนโยบายเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับการมีกิจกรรมทางกายของเด็กไทยให้สูงยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่จะส่งเสริมให้การดำเนินการในภาพใหญ่มีความเข้มแข็ง และประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รศ.นพ.ปัญญา กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยมากกว่าร้อยละ 70 มีกิจกรรมทางกายอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพฤติกรรมการใช้หน้าจอที่เกินกว่าเกณฑ์คำแนะนำทางด้านสุขภาพ โครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอสะสมอย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน

“กิจกรรมหลักของโครงการจะมีทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร ของสถานศึกษาผ่านกิจกรรมการอบรมสัมมนาที่น่าสนใจ สามารถนำไปปรับใช้กับการจัดกิจกรรมในการจัดการเรียนการสอนทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 โดยแบ่งเป็น 4 ฐานกิจกรรม จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการใน 3 มิติ ได้แก่ 1) ทักษะพิสัย 2) จิตพิสัย และ 3) พุทธพิสัย อันได้แก่ พัฒนาการทางสติปัญญา และการรู้คิด เกิดจากการทำงานของสมองในขณะที่เด็กเล่น โดยทำหน้าที่สั่งการอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเคลื่อนไหวอย่างประสานสัมพันธ์กัน อีกด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดหรือความคืบหน้าของกิจกรรมในโครงการฯ ได้ทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ActivePlayActiveSchool