จังหวัดนครปฐม ดำเนินการ ชวน ช่วย เลิกบุหรี่ ผ่านกลไก รพ.สต.ที่เข้มแข็ง ตามแนวทางของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการชวนและช่วยเลิกบุหรี่ โดยมุ่งหวังที่จะทำให้คนเลิกสูบให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง ผ่านกลไกสำคัญ อย่าง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เพราะถือเป็นกลุ่มที่กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ มีความใกล้ชิดประชาชนในระดับพื้นที่มากที่สุด โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. เป็นแกนกลางสำคัญในการสนับสนุนให้ อสม. ชวน และช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ได้
จากข้อมูลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ประจำปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป ได้รับการคัดกรอง 208,701 คน มีผู้สูบบุหรี่ 11,413 คน ในจำนวนนี้ เข้ารับการบำบัด 7,145 คน และเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 148 คน เลิกได้ 3 เดือน 113 คน เลิกได้ 6 เดือน 111 คน ขณะที่ในปี งบประมาณ 2561 จำนวนประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีผู้สูบบุหรี่ 11,483 คน ในจำนวนนี้ เข้ารับการบำบัด7,205 คน และเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 148 คน เลิกได้ 3 เดือน 113 คน เลิกได้ 6 เดือน 111 คน (ณ วันที่ 26 เมษายน 2562)
นางขนิษฐา ตั้งกิตติวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. โพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม กล่าวถึงการดำเนินงานชวน ช่วย เลิกบุหรี่ ว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ โดย รพ.สต. จะอบรมให้ความรู้ อสม.ถึงกระบวนการเลิกบุหรี่ โดยเริ่มจากแนะนำสมุนไพรตัวช่วยต่างๆ ให้ความรู้เรื่องสายด่วนเลิกบุหรี่ สอนวิธีนวดกดจุด จากนั้น อสม.จะทำการสำรวจจำนวนผู้สูบบุหรี่ในหมู่บ้าน เพื่อเข้าไปแนะนำกระบวนการทั้งหมด พร้อมติดตามผลในระยะ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่เลิกได้หรือผู้ที่กำลังอยากเลิก สามารถเลิกได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยจำนวนผู้ติดบุหรี่ที่เชิญชวนเข้าโครงการ มีประมาณ 300 – 400 คน เลิกได้ประมาณ 61 คน ซึ่งคนที่ยังไม่เลิกไม่ได้ ก็อยู่ระหว่างการติดตาม พูดคุย และให้กำลังใจ ให้เลิกบุหรี่ให้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจร้านค้าที่จำหน่ายเหล้าและบุหรี่ในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. จะร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล และ อสม. ในการเข้าไปแนะนำการจำหน่าย และติดสติ๊กเกอร์ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ร้านค้า นอกจากนี้ยังมี “โครงการวัยใสห่างไกลบุหรี่” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ ให้คุณครูคัดกรองเด็กลุ่มเสี่ยงมาเข้าโครงการ
ด้าน นายบวรรัตน์ ตันตระกูล ประธาน อสม.โพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ระบุว่า คนที่ติดบุหรี่ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น ส่วนคนที่ต้องการจะเลิกเป็นคนในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาพยายามชักชวนให้คนที่ติดบุหรี่ในพื้นที่หันมาเลิกบุหรี่ โดยเริ่มจากตัว อสม.เป็นต้นแบบก่อน เน้นเรื่องกีฬา เนื่องจากตนเองเป็นประธานชมรมเปตอง จึงกำหนดกติกาว่า คนที่จะเข้ามาเล่นห้ามสูบบุหรี่ ถ้าสูบบุหรี่ในสนามจะปรับเป็นเงินมาเข้าชมรม พร้อมระบุว่าตัวเองเป็นคนหนึ่งที่เคยสูบบุหรี่
“แรงบันดาลใจในการเลิกคือ วันที่ทิ้งก้นบุหรี่ ปรากฏว่าลูกอายุประมาณ 3 ขวบก็ไปหยิบขึ้นมาสูบ จากภาพวันนั้นจึงตัดสินใจเลิกทันที และใช้เรื่องนี้มาเป็นแรงบันดาลใจให้คนหันมาเลิกบุหรี่ แม้จะยังมีการต่อต้านบ้าง แต่เราก็จะใช้สภาพสังคมเป็นตัวกดดัน เพราะปัจจุบันนี้สังคมไม่ยอมรับคนสูบบุหรี่แล้ว” นายบวรรัตน์ กล่าว
ขณะที่ นางจริยาพันธ์ รุจิรัชกุล สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า จากข้อมูลปี 2560 พบว่า จำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ในจังหวัดนครปฐม มีจำนวน 120,000 คน เข้ามารับบริการที่หน่วยบริการทุกแห่ง ประมาณ 5,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่สูบบุหรี่ และคนที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชน ไม่ได้มาโรงพยาบาล ดังนั้นจึงต้องทำให้สถานบริการสาธารณสุข อย่าง รพ.สต. มีศักยภาพในการคัดกรอง ให้คำแนะนำประชาชนที่มาใช้บริการเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการติดตามคนไข้ ขณะที่ จังหวัดได้สนับสนุนกระบวนการเลิกบุหรี่ สนับสนุนเวชภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ โดยโรงพยาบาลนครปฐมที่เป็นแม่ข่ายผลิตน้ำยาช่วยเลิกบุหรี่ และส่งให้กับรพ.สต.ทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ รวมทั้งจัดสถานที่ต่างๆ ทั้งจังหวัดก็จะช่วยให้ประชาชนเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังขยายการดำเนินการเลิกบุหรี่ไปยังสถานประกอบการในพื้นที่ด้วย ซึ่งจากการดำเนินการพบว่า มีจำนวนพนักงานที่สูบบุหรี่ 598 คน เข้าร่วมกิจกรรมเลิกบุหรี่ 206 คน ในจำนวนนี้ เป็นพนักงานที่เลิกบุหรี่ได้ ในระยะเวลา 0 – 3 เดือน 11 คน ระยะเวลา 3 – 6 เดือน 1 คน และ เลิกได้มากกว่า 6 เดือน 10 คน
นางจริยาพันธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ คือการติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยมี อสม.เป็นผู้ติดตามทุกวันภายในสัปดาห์แรกที่เข้ามาเลิก เพราะถ้าเลิกได้ในช่วงสามวันแรก ก็จะเลิกได้อย่างถาวร แต่ถ้านานกว่านั้น อาจเลิกไม่ได้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน