หางนางเงือก-ครีบฉลาม ของเล่นทางน้ำที่ต้องระวังให้มาก

39

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กขณะเล่นน้ำเป็นพิเศษ ไม่ควรให้เด็กใส่หางนางเงือกหรือครีบฉลาม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการจมน้ำ เผยอุปกรณ์ดังกล่าวเหมาะสำหรับนักว่ายน้ำที่มีประสบการณ์ หากเป็นเด็กควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ใหญ่หรือครูฝึก

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ในช่วงนี้อากาศร้อนถึงร้อนมาก ผู้ปกครองจึงพาเด็กไปเล่นน้ำที่สระว่ายน้ำหรือสวนน้ำ และได้ซื้อของเล่นทางน้ำเป็นพิเศษให้เด็กเพื่อให้เกิดความสนุก ได้แก่ หางนางเงือกและครีบฉลาม (Mermaid tails & Shark fins for swimming) แต่อุปกรณ์ดังกล่าวเหมาะสำหรับนักว่ายน้ำที่มีประสบการณ์ หรือเด็กที่อยู่ในการฝึกและมีผู้ใหญ่หรือครูฝึกคอยกำกับดูแลอยู่ตลอดเวลา

หางนางเงือกและครีบฉลาม เป็นของเล่นทางน้ำที่ได้รับความนิยม มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เด็กๆ โดยหางนางเงือกใช้สวมใส่เท้าทั้งสองข้างเข้าไปอยู่ในหางกบที่ดูเหมือนหางของนางเงือก ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเพราะหางนางเงือกปิดตั้งแต่เอวลงมา และรัดขาเข้าด้วยกัน อาจลดความสามารถในการสร้างสมดุลและช่วยเหลือตนเองขณะยืนหรือว่ายน้ำอยู่ในสระได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการจมน้ำ ส่วนครีบฉลามมีลักษณะเป็นการนำเอาคีบมารัดติดไว้ด้านหลัง ดังนั้น การนำไปใช้ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และผู้ที่สวมใส่ควรเป็นนักว่ายน้ำที่มีประสบการณ์และมีความสามารถ หากเด็กใช้หางนางเงือกและครีบฉลามควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ใหญ่หรือครูฝึกที่ผ่านการรับรองตลอดเวลา และไม่แนะนำให้ใช้หางนางเงือกกับผู้ที่ไม่ใช่นักว่ายน้ำหรือผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการใช้หางนางเหงือกและครีบฉลาม คือ สภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมเท่านั้น เช่น สระว่ายน้ำภายใต้การควบคุมกำกับของผู้ใหญ่ และไม่แนะนำ    ให้ใช้หางนางเหงือกและครีบฉลามในแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์กระแสน้ำ คลื่นใต้น้ำ และกระแสน้ำย้อนกลับได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสียงขณะว่ายน้ำ ทั้งนี้ สระว่ายน้ำสาธารณะบางแห่ง มีการประกาศห้ามใช้หางนางเงือกและครีบฉลามเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ดังนั้น ข้อควรระวังในการใช้หางนางเงือก คือ  1.ดูแลเด็กขณะที่อยู่รอบๆ แหล่งน้ำอย่างใกล้ชิด 2.เหมาะสำหรับนักว่ายน้ำที่มีประสบการณ์เท่านั้น ที่จะใช้หางนางเงือกได้  3.มั่นใจว่าฝึกการใช้หางนางเงือกและครีบฉลามในน้ำตื้น และภายใต้การกำกับดูแลของผู้ใหญ่  4.ใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม เช่น สระว่ายน้ำ  5.ไม่ควรว่ายน้ำในระยะไกล หรือแข่งกันว่ายน้ำ เมื่อใช้หางนางเงือก  6.ไม่มีภาวะการหายใจเร็วกว่าปกติ ก่อนการดำน้ำด้วยหางนางเงือก

กรมควบคุมโรค จึงขอฝากถึงประชาชนหากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือการเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422