สสส. – องค์กร INPUT – สถาบันเกอเธ่ – ภาคีสื่อสร้างสรรค์ เจ้าภาพร่วมจัดการประชุม INPUT ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ไทยโชว์สารคดีถ้ำหลวง” สร้างจิตสำนึกสื่อพลเมือง เน้นประโยชน์ต่อสาธารณะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ องค์กร International Public Television (INPUT) สถาบันเกอเธ่ ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจกรรมโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมนานาชาติ “International Public Television Conference 2019” ระหว่างวันที่ 6 – 10 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน
นางสาวจูดี้ แทม ผู้อำนวยการการจัดการประชุม INPUT President กล่าวว่า การจัดงานมีแนวคิด “Storytelling in the Public Interest เรื่องเล่าเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการรับชมภาพยนตร์ กว่า 85 เรื่อง จาก 34 ประเทศ อาทิ ประเทศแคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ กาน่า อินเดีย ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา ไทย ภายในงานแบ่งห้องชมภาพยนตร์เป็น 3 ห้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเลือกชมภาพยนตร์ตามความสนใจ ครอบคลุมทั้งรายการข่าว สารคดี บันเทิง รายการสำหรับเด็กและเยาวชน และสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาเดียวกันในหลายช่องทาง (Cross Media) รวมถึงผลงานจากไทยพีบีเอส ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมฉาย ได้แก่ สารคดีสะอาดบุรี และ ซีรีส์ฤดูกาลแห่งรัก ตอน ‘ฝน’ และสารคดีถ้ำหลวง ‘สูญ-หา-เจอ-รอด-ฟื้น’ และผลงานทั้งหมดนี้จะถูกเผยแพร่เฉพาะในการประชุมนานาชาติครั้งนี้เท่านั้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนจากผู้รับสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ให้กลายเป็นผู้ใช้สื่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แม้อย่างนั้นสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ยังคงความเป็นสื่อที่มีบทบาทการชี้นำความคิด ค่านิยม พฤติกรรม และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนในสังคม และไม่หยุดพัฒนารูปแบบการสื่อสาร โดยเลือกนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และยังคงความเป็นสื่อสาธารณะที่สร้างบรรยากาศสังคมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะ ตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ให้ความรู้ทางการศึกษา ยกระดับความต้องการของประชาชนเพื่อเป้าหมายของการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ
“การประชุมครั้งนี้นับเป็นเวทีกลางที่เอื้อให้ผู้ผลิตสื่อ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้สนับสนุน และนักวิชาการ ได้มีโอกาสร่วมอภิปราย แบ่งปันประสบการณ์ แรงบันดาลใจ ปัญหาและแนวทางแก้ไข ผ่านประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม การสืบหาความจริง และการศึกษา เพื่อพัฒนาสื่อวิชาชีพให้เป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหาที่มาพร้อมกับจิตสำนึกหน้าที่พลเมือง คงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสื่อ ด้วยบทบาทของการเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญเพื่อพัฒนาพลเมืองในโลกศตวรรษที่ 21” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ภายในงานมีล่ามภาษาอังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ สำหรับผู้ร่วมงาน เนื่องจากภายหลังการรับชมภาพยนตร์ ผู้ผลิตจะร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ชมที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตวิชาชีพที่มีความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้แนวทาง วิธีคิดในการผลิตรายการรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในประเทศและบริบทสากล