เด็กรุ่นใหม่ชิงสุกไวจนน่าห่วง ผู้ป่วย “ซิฟิลิส” แนวโน้มเพิ่มสูง

34
ภาพโดย Astryd_MAD จาก Pixabay

“ซิฟิลิส” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แฝงตัวอยู่ได้โดยที่ผู้ป่วยเองก็อาจจะไม่ทราบ เพราะในระยะแรกอาจจะไม่แสดงอาการใดๆ ทำให้การแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นเป็นไปได้ง่าย โดยที่ผ่านมาโรคซิฟิลิสได้มีการติดตามเฝ้าระวังด้วยการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้คนในปัจจุบันมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่เด็กลง อีกทั้ง แม้จะรู้ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่การป้องกันตนเองก็ยังถูกมองข้าม

ล่าสุดรายงานของกรมควบคุมโรคระบุว่า ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคซิฟิลิสอย่างใกล้ชิด  หลังพบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น พร้อมสนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัย ผ่านสถานบริการของรัฐและหน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรค โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์โรคซิฟิลิสที่เผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊กของโรงพยาบาลบางรัก สังกัดกรมควบคุมโรคนั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่ากรมควบคุมโรคให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงได้มอบหมายให้สำนัก โรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคซิฟิลิสอย่างใกล้ชิด หลังพบว่าสถานการณ์โรคซิฟิลิสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา พบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด ในช่วงอายุ 15-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 36.9 ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน และวัยเจริญพันธุ์

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ปี 2560 พบว่าวัยรุ่นมีแนวโน้ม การมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น โดยอายุเฉลี่ย 13-15 ปี และไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกประมาณร้อยละ 30 ส่วนข้อมูลพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2  ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 76.9 และ 66.7  ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 74.1 และ 76.9  ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 2 ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 69.5 และ 74.6  จากข้อมูลทำให้เห็นว่าวัยรุ่นยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี และการท้องไม่พร้อม

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคซิฟิลิส เป็นโรคที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การรับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อ หรือจากแม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วไม่ได้รับการรักษาสู่ทารกในครรภ์  หลังจากได้รับเชื้อในช่วงแรกอาจจะพบแผลที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นแผลจะหายได้เอง และจะมีผื่นตามร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่อวัยวะเพศ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆได้  โดยผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อนั้นจะอยู่ในร่างกายถ้าไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปรกติที่สมอง และระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดง ผู้ป่วยจะทราบว่าติดเชื้อได้ต่อเมื่อมีการไปตรวจเลือด เช่น การตรวจเลือดเพื่อบริจาคเลือด หรือการตรวจคัดกรองในระยะฝากครรภ์  ซึ่งโรคนี้มียารักษาและสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควรมีการตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูระดับผลเลือด

สำหรับการป้องกันโรค นั้น กรมควบคุมโรคขอแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และรับผิดชอบต่อคู่และสังคม ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ขอแนะนำให้เจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและลดโอกาสการแพร่เชื้อของโรคได้

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค มีนโยบายสนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งประชาชนสามารถรับถุงยางอนามัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ผ่านสถานบริการของรัฐและหน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรค หากผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองป่วย สามารถขอรับคำปรึกษาโดยผ่านทาง facebook Bangrak STIs Center รวมทั้งข้อมูลความรู้ในการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ การใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีได้ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์ โทร.1663 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422