แนวทางปฏิบัติเมื่อเข้าสู่หน้าฝน “ไข้หวัดใหญ่ รู้ตัวเร็ว รักษาก่อน”

29
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (กลาง) ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ รศ.(พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ (ขวา) ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ คุณกัปตัน ภูธเนศ หงส์มานพ นักแสดงชื่อดังของเมืองไทย

ไข้หวัดใหญ่ รู้ตัวเร็ว รักษาก่อน ลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แนวทางปฏิบัติเมื่อประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝน

ไข้หวัดใหญ่ ยังคงเป็นโรคร้ายที่คุกคามสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายไปสู่คนทุกเพศทุกวัยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจากรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่าปีนี้มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้วกว่า 152,185 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 10 ราย ภายในสี่เดือนแรกของปีนี้

ถือเป็นสถิติที่น่าตกใจเมื่อจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ของปี 2562 ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึงปัจจุบันกลับมีจำนวนกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมดเมื่อปี 2561 ที่จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2561 ได้ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่กว่า 185,829 รายจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ และมีรายงานการเสียชีวิตถึง 32 ราย1 จึงเป็นสาเหตุให้โรคไข้หวัดใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังประจำปี 2562

ปีนี้กลุ่มที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สูงที่สุดในประเทศไทยคือ กลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 7 – 9 ปี คิดเป็น 13.71 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยกลุ่มคนวัยทำงาน 25 – 34 ปี (12.99 เปอร์เซ็นต์) และ เด็กอายุ 10 – 14 ปี (12.77 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการติดต่อของโรคไข้หวัดใหญ่มักเกิดขึ้นภายในโรงเรียน1

ในประเทศไทยได้พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในหน้าฝน เนื่องจากเชื้อไวรัสมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายได้ดีในประเทศเขตร้อนที่มีความชื้นสูง อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทำให้การระบาดของโรคนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในฤดูแล้งช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ด้วยจำนวนผู้ป่วยถึง 46,648 รายและผู้เสียชีวิต 4 ราย

ในขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ยังมีคนไทยจำนวนมากที่เข้าใจว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง และสามารถหายเองได้ เนื่องจากมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา โดยมาตรการในการป้องกันและรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันมีสองรูปแบบด้วยกัน คือ การรับวัคซีนและยาต้านไวรัส ซึ่ง รศ.(พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ถึงแม้โรคไข้หวัดใหญ่จะติดต่อได้ง่าย หากแต่ป้องกันได้ และรักษาได้เช่นเดียวกัน

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ คือ A, B, C และ D โดยสายพันธุ์ A และ B เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งประเทศไทยมีแนวโน้มพบการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของสายพันธุ์ B มากกว่าสายพันธุ์ A โดยสายพันธุ์ B จะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A และไม่สามารถติดต่อระหว่างคนกับสัตว์ได้

“การรับวัคซีนเป็นมาตรการเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อที่สามารถกลายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติของมัน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในทุกๆ ปี เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสหวัดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขจึงรณรงค์ให้ประชาชนไปรับวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ในขณะเดียวกัน ยาต้านไวรัส ก็ยังเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ หลังจากที่ได้รับเชื้อ เพื่อย่นระยะเวลาของอาการป่วย และลดความเสี่ยงที่อาการอาจมีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิต”

“ในระยะแรกหลังจากได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์เมื่อพบว่ามีไข้สูงติดต่อกันเกิน 48 ชั่วโมง เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอัตราการแพร่ระบาดสูงสุดในช่วง 3 – 5 วันแรกที่มีอาการ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะนอกจากจะป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดไปยังบุคคลรอบข้างด้วย และสำหรับประเทศไทยที่กำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนทั่วไปก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นมีประสิทธิภาพอยู่ระหว่าง 40 – 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทุกคนจึงควรระมัดระวังและศึกษามาตรการเพื่อการรักษาไปพร้อมกัน” รศ.(พิเศษ) นพ. ทวี กล่าวเสริม

ในขณะที่ปัจจุบันมียาต้านไวรัสหลายแขนงอยู่ในตลาด แต่การพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อผลักดันขีดความสามารถทางการแพทย์ให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้ดีที่สุดต่อไป