อพท. ร่วม Planet Happiness สำรวจความสุขของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว

23

อพท. และ Planet Happiness ลงนามความร่วมมือ (MOU) และสำรวจความสุขของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว

Planet Happiness และ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อสำรวจประเมินความสุขและคุณภาพชีวิตของชุมชนแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้ดัชนีวัดความสุข Happiness Index ในพื้นที่พิเศษของ อพท. มรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอยุธยา พื้นที่พิเศษเมืองพัทยา หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง พื้นที่พิเศษเลย พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าความเป็นอยู่และความสุขของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญ เช่นเดียวกับตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ซึ่งนับว่าเป็นดัชนีชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับสากล

สำหรับกิจกรรมนำร่องภายใต้กรอบ MOU จะเป็นการฝึกอบรม Planet Happiness Index ให้แก่เจ้าหน้าที่ อพท. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตรกับ อพท. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและวิธีการใช้เครื่องมือวัดความสุข Happiness Index โดยมีผู้เชี่ยวชาญ คือคุณลอร์ร่า มูซิคานส์คี นักเขียน นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีและ ดร.พอล โรเจอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและยังเป็นที่ปรึกษาโครงการต่างๆ ด้านการท่องเที่ยวขององค์การ การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) เป็นวิทยากร นอกจากนี้ยังได้มีการนำแบบสำรวจความสุข Planet Happiness Index ที่ง่ายต่อการเข้าใจและใช้งานอันจะช่วยให้ อพท. สามารถนำไปปรับใช้ในการลงพื้นที่ทำการสำรวจความสุขของชุมชนแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอยุธยา โดยใช้เกณฑ์ Planet Happiness Index อาทิ ความพึงพอใจต่อชีวิต การเข้าถึงธรรมชาติและศิลปะ การมีส่วนร่วมของชุมชน มาตรฐานการครองชีพ การเรียนรู้ตลอดชีวิตและสุขภาพของสมาชิกในชุมชน เป็นต้น

ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า “ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิตที่ดีและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยวของสมาชิกในชุมชนแหล่งท่องเที่ยว อพท. ในฐานะหน่วยงานประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะได้นำดัชนีวัดความสุข Happiness Index มาปรับใช้ในการสำรวจคุณภาพชีวิตและความสุขของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆที่ อพท. รับผิดชอบ ซึ่งความอยู่ดีมีสุขถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานในระดับ Outcome ที่สะท้อนภารกิจตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์กร ในการทำงานเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เราจะนำการท่องเที่ยวให้เป็นมากกว่าเงินดอลลาร์และจีดีพี ในด้านความสุขและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่าการวัดด้านรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังจะได้นำผล/ข้อมูลที่ได้จากการประเมิน มาปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความสุขให้กับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

ดร. พอล โรเจอร์ส ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Planet Happiness โครงการของ Happiness Alliance ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ร่วมงานกับ อพท. และกล่าวว่า ในปัจจุบันแบบสำรวจ Happiness Index surveys ถูกนำไปใช้สำรวจความสุขของชุมชนแหล่งท่องเที่ยวกว่า 10 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี เนปาล อินโดนีเซีย อังกฤษ โมซัมบิก เวียดนามและลาว สำหรับในประเทศไทยนั้น กรอบความร่วมมือ (MOU) กับ อพท. ถือเป็นพันธมิตรองค์กรภาครัฐรายแรก และเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานบริหารจัดการการท่องเที่ยวภาครัฐในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวัดความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเป้าหมายของ Planet Happiness ที่จะได้ทำงานร่วมกับองค์กรการท่องเที่ยวภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อส่งเสริมความสุขของชุมชนที่เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นการช่วยให้หลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดจากภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกับ อพท. ที่มีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เราจะนำการท่องเที่ยวให้เป็นมากกว่าเงินดอลลาร์และจีดีพี ซึ่งก็คือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในด้านของความสุขและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นนั่นเอง”