เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความภาคภูมิใจ ภายใต้โครงการ “SACICT จิตอาสา” โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เพื่อการสร้างอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ และกลุ่มประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยล่าได้สุด ได้เปิดตัวกิจกรรมกันที่ จังหวัดเชียงราย
อาเบอ เยเบีย ชาวเขากลุ่มอาข่าลอมิ หมู่16 ต.แม่สรวย จ.เชียงราย กล่าวด้วยรอยยิ้ม ถึงโครงการ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” ว่า “ขอบคุณชาว SACICT และครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา ที่ให้โอกาสชนเผ่าอย่างพวกเรา เข้ามาหาถึงพื้นที่ วันนี้ได้มาเรียนรู้การปักผ้าแบบลูกโซ่ จริงๆ แล้วผู้หญิงชาวอาข่าเย็บปักถักร้อยเป็นแทบทุกคน ทุกคนต้องทำเครื่องแต่งกายประจำเผ่าไว่สวมใส่เองกันอยู่แล้ว ซึ่งใช้เทคนิคมากมายหลายแบบที่สอนๆ ต่อๆ กันมา ได้เห็นแบบผ้าซิ่นที่ครูนำมาให้ดูว่า ต่อไปจะให้พวกเราช่วยปัก โดยครูจะเป็นผู้ออกต้นทุนวัตถุดิบให้ก่อน พวกเราลงแรงอย่างเดียว ลวดลายไม่ยาก สามารถทำได้แน่นอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้มาจุนเจือครอบครัว จากการทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ ให้มีกินมีใช้มากขึ้น”
ดอกแก้ว ณ คีรี ชาวเขาลาหู่เหลือง มาจากหมู่ 9 ต.แม่สรวย จ.เชียงรายบอกว่า “ตอนนี้ได้รวมกลุ่มผู้หญิงกันได้ 16 คนมาร่วมโครงการนี้ ก่อนหน้าก็ทำอาชีพเลี้ยงสัตว์ปลูกพืชพื้นถิ่น และทำสินค้าเสื้อผ้ากระเป๋า มีทั้งชุดทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีเอกลักษณ์ลาหู่ ทำแล้วขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าสามารถมีคนเข้ามาช่วยสอนว่า ตลาดต้องการอะไร แนะนำเรื่องการออกแบบตัดเย็บและแปรรูป ซึ่งหาก SACICT เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดให้ จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เกิดการรวมกลุ่มเป็นชุมชนหัตถกรรมได้ในอนาคต ซึ่งจะให้ความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่ค่ะ”
การให้ที่ยั่งยืน คือการให้ชุมชนสามารถมีอาชีพ มีรายได้ในระยะยาว ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่งคง กลุ่มชาติพันธุ์สามารถยืนด้วยตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จึงเป็นการให้ที่ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างภาคภูมิใจ