โครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ-คืนคนดีสู่สังคม” ทีเอ็มบี

39

ทีเอ็มบี พัฒนาศักยภาพแก่เยาวชนที่ก้าวพลาด ในโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ-คืนคนดีสู่สังคม”

คนเราทุกคนต่างต้องการได้รับ “โอกาส” ในการฝึกฝนตนเอง เพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ อันจะนำพาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวไปสู่สถานะที่ดีกว่าเดิม เช่นเดียวกับน้อง ๆ กลุ่มนี้ ที่เป็น “กลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสที่ก้าวพลาด” จากมูลนิธิบ้านพระพร กลุ่มเยาวชนที่ออกจากสถานพินิจและเข้ารับการฟื้นฟูกับทางมูลนิธิฯ ซึ่งพวกเขาต้องการโอกาสท่ามกลางสภาวะของสังคมไทยในปัจจุบันซึ่งยังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร

แต่ ทีเอ็มบี กลับมองเห็นถึงศักยภาพของเยาวชนเหล่านี้ที่จะสามารถพัฒนาตัวเอง สร้างอาชีพ มีโอกาสเติบโตและต่อยอดในการช่วยสร้างสังคมที่ดีต่อไปได้

โดย กิจกรรม อาสาสมัครทีเอ็มบี เปลี่ยนชุมชนอย่างยั่งยืน (FAI-FAH for Communities) ภายใต้ปรัชญา “Make THE Difference” ที่เชื่อมั่นในพลังของการ “ให้” ซึ่งพนักงานทีเอ็มบีทั่วประเทศจะเป็นผู้จุดประกายให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นผ่านกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน

“นายปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นของทีเอ็มบี ที่จะ “ให้คืน” กลับสู่สังคมอย่างไม่สิ้นสุด นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2557 กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน (FAI-FAH for Communities) โดยเหล่าอาสาสมัครทีเอ็มบีที่เป็นคนจุดประกายชุมชนในการเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และในปี 2562 นี้ ได้มีการเปลี่ยนชุมชน ผ่าน 40 โครงการทั่วประเทศ โดยได้มุ่งเน้นสร้างสรรค์โครงการที่ตอบโจทย์ชุมชน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การเข้าไปในชุมชนเพื่อสำรวจปัญหาต่างๆ จุดประกายให้คนในชุมชนออกมาช่วยกัน “เปลี่ยน” ร่วมกับทีมอาสาสมัคร ช่วยกันคิด วางแผน และกำหนดแนวทางในการ “เปลี่ยน” เพื่อให้เหมาะกับชุมชนหรือตอบสนองความต้องการของชุมชนนั้น โดยใช้เวลา 3 เดือนต่อ 1 โครงการ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมีชุมชนที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 133 ชุมชน มีชาวชุมชนร่วมกิจกรรมกว่า 200,000 คน และล่าสุด คือโครงการ “สร้างอาชีพ คืนคนดี สู่สังคม” ที่ได้เข้าไปสนับสนุนการสร้างอาชีพแก่เยาวชนด้อยโอกาสที่ก้าวพลาดจากมูลนิธิบ้านพระพร


มุ่งพัฒนาเน้นสร้างอาชีพได้จริง

“นายชนะกร มุ่งงานดี” ผู้จัดการเขตพระราม 9 ทีเอ็มบี และหัวหน้าโครงการทีมพระราม 9 เล่าถึงความเป็นมาของโครงการ “สร้างอาชีพ คืนคนดี สู่สังคม” ว่า ทางมูลนิธิบ้านพระพร มีนโยบายรับเยาวชนที่ออกมาจากสถานพินิจเพื่อการฟื้นฟู และมีโครงการพัฒนาเยาวชนไปสู่การสร้างอาชีพอยู่แล้ว แต่เห็นว่ายังมีความต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมจึงได้เข้าไปช่วยเสริมในด้านการฝึกอาชีพให้กับเยาวชน และจากการหารือร่วมกับทางมูลนิธิ จึงได้คัดเลือกมา 2 อย่างคือการทำเค้กกล้วยหอมเนยสด และช่างตัดผมชาย

“ก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิมีการสอนและทำเบเกอรี่อยู่แล้ว แต่ทำเพียง 1 อย่างเท่านั้นคือ ขนมเปี๊ยะ ประกอบกับเราได้สูตรการทำเค้กกล้วยหอมเนยสดมา ซึ่งเป็นสูตรพิเศษ และคิดว่าน้อง ๆ เยาวชน จะสามารถนำไปทำเองได้ตามสูตรที่เราแนะนำ อีกทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพได้ ส่วนวิชาชีพช่างตัดผมนั้น เห็นว่ามีน้อง ๆ เคยไปเรียนมาบ้างแล้วแต่ยังไม่เก่งนัก ภายใต้โครงการนี้ จึงเชิญอาจารย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการตัดผมมาสอนให้กับน้อง ๆ โดยเฉพาะ” นายชนะกร กล่าว

ไม่เพียงเท่านี้ ทางทีเอ็มบียังได้จัดทีมเข้ามาสอนในเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะด้านการเงิน การใช้จ่าย ดูแลต้นทุน และทำบัญชีเบื้องต้น เป็นต้น เพราะเมื่อน้อง ๆ เยาวชนเหล่านี้ได้มีโอกาสกลับไปสู่สังคมและได้เริ่มต้นประกอบวิชาชีพของตัวเองแล้วจะสามารถบริหารจัดการอาชีพหรือกิจการของตัวเองได้เป็นอย่างดี

นายชนะกร กล่าวอีกว่า ภายใต้โครงการอาสาสมัครเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนนี้ ทีเอ็มบีได้เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับน้อง ๆ เยาวชนที่ก้าวพลาดในสองอาชีพ ซึ่งเป็นอาชีพที่คาดหวังว่าพวกน้อง ๆ จะสามารถนำไปต่อยอดและประกอบอาชีพของตัวเองได้จริง อีกทั้งเป็นคนที่เข้มแข็งในสังคมได้คนหนึ่งและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป

ปั้นต้นแบบเยาวชนเพื่อสังคม

ด้าน “นายวุฒิชัย วงศ์จิโรจน์” เลขาธิการมูลนิธิบ้านพระพร กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้รับช่วยเหลือเยาวชนที่ด้อยโอกาสที่ก้าวพลาดเข้ามาฟื้นฟู ปรับทัศนคติ ให้ทุนการศึกษา และจัดโครงการฝึกอาชีพเพื่อพวกเขาจะสามารถนำไปประกอบเป็นวิชาชีพได้จริง ซึ่งมีทั้งการเกษตร เบเกอรี่ ช่างตัดผม คาร์แคร์ และการทำกีตาร์แฮนด์เมด เป็นต้น โดยโครงการของทีเอ็มบีที่เข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้ได้ช่วยเติมเต็มในส่วนที่ยังเป็นจุดอ่อนของทางมูลนิธิฯ ด้วย เช่น สอนในเรื่องการจัดทำบัญชี การใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือเยาวชนผู้ด้อยโอกาสได้พัฒนาชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นได้จริง

นอกจากนี้ การมีพี่ ๆ อาสาสมัครเข้ามา นับว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ทำให้น้อง ๆ เหล่านี้ได้เห็นชีวิตของคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม กลุ่มคนที่มีความคิดอ่าน มีความรับผิดชอบ ให้เยาวชนที่นี่ได้เห็นว่าชีวิตไม่ได้มีเพียงด้านเดียว ความสนุกในแบบที่เขาทำอยู่ ไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ซึ่งเมื่อเขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับพี่ ทีเอ็มบี ทำให้พวกเขาได้เห็นสังคมที่กว้างขึ้น สามารถซึมซับ และเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นได้

นายวุฒิชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนในอนาคต คือการสร้างให้เยาวชนที่ได้รับการฝึกอบรมกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นช่างตัดผม เบเกอรี่ หรือการเกษตร เป็นต้นแบบในการเข้าไปช่วยเหลือเยาวชนด้อยโอกาสที่ก้าวพลาด ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมเป็นคนดีได้อีกครั้ง โดยน้อง ๆ เหล่านี้จะสามารถกลับเข้าไปช่วยเหลือเยาวชนในสถานพินิจหรือคนในเรือนจำได้ และต่อไปคาดหวังว่ายังจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนที่กำลังจะก้าวพลาดได้อีกด้วย เพื่อพวกเขาจะสามารถเข้าไปต่อยอดช่วยเหลือสังคมต่อ ๆ ไปได้ไม่สิ้นสุด

2 จิตอาสาร่วมส่งต่อความฝัน

สำหรับโครงการ “สร้างอาชีพ คืนคนดี สู่สังคม” นอกจากทีมอาสาสมัครจากทีเอ็มบีแล้ว ทางทีเอ็มบีเองยังร่วมกับจิตอาสาในการเป็นวิทยากรเข้าช่วยฝึกอาชีพให้กับน้อง ๆ อีก 2 ท่าน นั่นคือ “นางเภริตา คุ้มภัย” พี่จิตอาสาที่เข้ามาช่วยสอนทำขนมเค้กกล้วยหอมเนยสด ซึ่งเธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักมูลนิธิบ้านพระพรมาก่อนเลย แต่เมื่อได้มีโอกาสจึงอาสาที่จะเข้ามาช่วยเพราะมีความตั้งใจอยู่แล้วว่าหากตัวเองสามารถช่วยเหลือสังคมได้ก็ต้องการเข้าไปทำ และคิดว่าสูตรขนมที่มีอาจจะสามารถทำช่วยทำรายได้ให้กับหลาย ๆ คนได้

“พี่มีลูกอยู่ในวัยเดียวกับน้องเยาวชนกลุ่มนี้ ซึ่งคิดว่าอย่างน้อยเราให้โอกาสเขา และที่ผ่านมาเขาอาจจะผ่านอะไรมาที่อาจจะดูโหดร้ายสำหรับเขา บางทีเขาก็อยากจะได้รับโอกาสจากสังคมแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ส่วนเราเองอย่างน้อยก็มาเป็นทางเลือกหนึ่งให้น้อง ๆ ได้เริ่มเห็นและเก็บเกี่ยวสิ่งดี ๆ เพื่อจะสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ง่าย และในอนาคตหากมีโอกาสช่วยเหลือเรื่องอื่น ๆ อีกก็ยินดีหากสามารถทำได้” นางเภริตา กล่าว

“อาจารย์สันทัด พินน้อย” อาจารย์สอนเสริมสวยและอาภรณ์ โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร หนองจอก เป็นจิตอาสาที่อีกท่านที่เข้าร่วมในโครงการนี้ โดยอาจารย์เล่าว่า ปกติในเวลาว่างจะพาทีมงานเป็นจิตอาสาไปตัดผมให้กับชุมชนอยู่แล้ว และในครั้งนี้ได้เข้ามาจุดประกายความฝันให้น้อง ๆ และสานฝันในการฝึกอาชีพเป็นช่างตัดผม ซึ่งเด็ก ๆ ที่นี่มีความอ่อนน้อม และตั้งใจใฝ่หาความรู้ และเห็นว่ามีน้อง ๆ หลายคนที่จะสามารถเข้าไปฝึกฝนต่อเนื่องและเป็นช่างตัดผมมืออาชีพได้จริง

“เรากระตุ้นให้เขาเห็นว่าการเป็นช่างตัดผมสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้จริง ซึ่งน้อง ๆ เขาก็มองเห็นโอกาสนั้นและก็คว้าโอกาสนั้นด้วย นอกจากนี้ ผมปลูกฝังให้เยาวชนกลุ่มนี้ให้กลับมาฝึกฝนน้อง ๆ ในรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย และในอนาคตยังคิดจัดทีมจิตอาสาส่งเข้ามาช่วยฝึกฝนน้อง ๆ ที่ต้องการฝึกอาชีพช่างตัดผมเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากช่างมืออาชีพที่แตกต่างกันออกไป”อาจารย์สันทัด กล่าว

มุ่งมั่นสร้างความฝันให้เป็นจริง

ด้านเยาวชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ “สร้างอาชีพ คืนคนดี สู่สังคม” ในครั้งนี้ คาดหวังจะนำไปใช้ในการสร้างอาชีพของตนเองในอนาคต โดย “คิว” ผู้ที่เรียนเป็นช่างตัดผม กล่าวว่าทางมูลนิธิฯ แนะนำให้เข้าร่วมกับโครงการนี้เพราะส่วนตัวแล้วมีความฝัน ตั้งใจจริงในการจะเป็นช่างตัดผมและอยากจะมีร้านตัดผมเป็นของตัวเองในอนาคต เพื่อเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและดูแลพ่อ-แม่

“ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากรุ่นพี่ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นเยาวชนที่ก้าวพลาดและเข้ามาฟื้นฟู ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิบ้านพระพรมาก่อน จนปัจจุบันพี่เขาประสบความสำเร็จเป็นช่างตัดผมมืออาชีพและมีรายได้สามารถดูแลครอบครัวและพ่อ-แม่ได้ โดยไม่กลับเข้าไปในสังคมเดิม ๆ อีก จึงทำให้ผมมีแรงผลักดันที่อยากจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผมเองเช่นกัน”

อย่างไรก็ดี หลังจากจบโครงการของทีเอ็มบีในครั้งนี้แล้ว คิวบอกว่า ยังมีความตั้งใจที่จะไปฝึกฝนฝีมือต่อ เพราะต้องหาประสบการณ์ให้มากขึ้น แม้ปัจจุบันจะสามารถตัดผมได้แล้วและยังสามารถช่วยสอนน้อง ๆ ตัดผมด้วยแล้ว แต่คิดว่าการเป็นช่างตัดผมมืออาชีพได้ยังต้องใช้ความละเอียดอีกมาก เช่น การออกแบบทรงผมให้เข้ากับรูปหน้าของลูกค้า รวมไปถึงการฝนฝนวิธิการตัดผมในหลากหลายรูปแบบด้วย

ส่วน “ดา” มีความตั้งใจที่จะใช้ความสามารถในการทำขนมของตนเองจากการที่ได้เข้ารับการอบรมจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ โดยจะใช้เป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เสริมให้กับตนเองหลังออกจากมูลนิธิบ้านพระพรแล้ว

“หนูชอบทำขนมอยู่แล้วและได้รับการสอนมาตั้งแต่สมัยอยู่ในสถานพินิจก่อนแล้ว เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบทานขนม โดยเฉพาะขนมไทย พอมาอยู่ที่นี่ก็ขอเข้าไปเรียนทำเบเกอรี่ด้วย ส่วนการเข้าร่วมอบรมกับทางโครงการของทีเอ็มบี ก็ได้รับอีกสูตรหนึ่งในการทำขนมเค้กกล้วยหอมเนยสด ซึ่งคิดว่าน่าจะนำไปสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ในอนาคต” ดา กล่าวและบอกด้วยว่า การทำขนมมีส่วนทำให้ตัวเองเป็นคนใจเย็นขึ้น ทำอะไรด้วยความมีสติมากขึ้น และคิดว่าการที่ทีเอ็มบีเข้ามาสนับสนุนเราก็ยิ่งเป็นโอกาสให้เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้กับตัวเองให้มากขึ้นด้วย