สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลสำรวจครอบครัวไทย ต้องการที่อยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่รับสังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องการการดูแล และสร้างความสุขให้กับทุกคน แมกโนเนียมุ่งสร้างที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวคิด “Intergeneration Family” สอดรับความต้องการคนรุ่นใหม่
ผศ.ดร.พิมลพรรณ อิศรภักดี ที่ปรึกษาและอาจารย์พิเศษ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สถาบันฯ จัดทำผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ อายุ 15 – 65 ปี รวม 400 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่า กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 70.8% ต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่น ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มครอบครัวขยาย ที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องการอยู่อาศัยแบบครอบครัวหลายรุ่น เนื่องจากทำให้เกิดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว การสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ได้มีการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน ได้รับการถ่ายทอดวัฒธรรมประเพณี การถ่ายทอดประสบการณ์ และเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลด้านเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน รูปแบบครอบครัวไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นครอบครัวเดี่ยว (ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก) 46% ครอบครัวขยาย 34% ครอบครัวเฉพาะสามีและภรรยา 10% ครอบครัวพึ่งพา (ที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน) 9% และอื่น ๆ เช่น มีแต่พี่น้อง อีก 1%
“กลุ่มตัวอย่างที่อยู่อาศัยแบบครอบครัว 3 รุ่น มีค่าเฉลี่ยสุขภาพจิตดีกว่าครอบครัวแบบอื่นเกือบทุกด้าน ด้วยเหตุผลว่าสมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน เมื่อป่วยหนักเชื่อว่าครอบครัวจะดูแลกันได้อย่างดี และรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว” ผศ.ดร.พิมลพรรณ กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า คนไทยยังต้องการอยู่อาศัยกับครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายช่วงวัย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว พร้อมถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพียงแต่จากปัจจัยแวดล้อมในสังคมยุคปัจจุบัน เช่น การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในสังคมเมือง การทำงานที่ต้องแข่งขันสูง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีข้อจำกัดในการอาศัยร่วมกัน
รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน คิดเป็น 16.9% ของประชากรทั้งหมด และสัดส่วนผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงควรนำเสนอทางเลือกดูแลผู้สูงอายุที่ดี โดยเน้นที่การสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นผ่านการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่การส่งผู้สูงอายุไปอยู่นอกบ้าน เช่น บ้านพักคนชรา หรือมูลนิธิต่าง ๆ โดยประเทศญี่ปุ่นถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการดูแลผู้สูงอายุ เพราะขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังปรับระบบรับผู้สูงอายุกลับมาอยู่ที่บ้านให้มากที่สุด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ต่าง ๆ กลับคืนมา
นายคีรินทร์ ชูธรรมสถิตย์ ประธานผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบริการ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า การจัดฟอรั่ม “Intergeneration Family Living Forum” สอดคล้องกับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ MQDC For All Well Being ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจไปพร้อม ๆ กับความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนอกเหนือจากงานพัฒนาโครงสร้างในฐานะผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย เพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้ายนั่นคือ ความสุขของการอยู่ร่วมกันในครอบครัว อันเป็นหนึ่งแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของการอยู่อาศัยให้สอดรับกับรูปแบบ ตลอดจนอัตลักษณ์อันมีคุณค่าของครอบครัวเอเชีย ที่ยังคงสืบทอดความปรารถนาอยากที่จะใช้ขีวิตอยู่ร่วมกันในครอบครัวที่มีคนหลายวัยอย่างมีความสุข ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
นายรุ่งโรจน์ จงศุจิพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) กล่าวว่า หากย้อนกลับไปที่พื้นฐานของครอบครัวไทยได้ปรับเปลี่ยนจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวในสัดส่วนที่สูงตั้งแต่รุ่นยุคเบบี้บูมตอนปลายเป็นต้นมา ปัจจุบันกลุ่มเบบี้บูมคือกลุ่มผู้ที่เริ่มเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในครอบครัวสมัยใหม่ที่มีขนาดเล็กลง ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องแข่งขันสูงในการทำงาน การอยู่อาศัยจึงเน้นทำเลที่ตั้งของสถานที่ทำงาน หรือ ความสะดวกสบายในการเดินทาง แนวโน้มดังกล่าวนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวลดลง
“การสัมนานี้จะทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญกับรากฐานชีวิตที่แท้จริงของครอบครัว ตลอดจนคุณค่าการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ และการใช้เวลาร่วมกัน รวมทั้งการเรียนรู้ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผลวิจัยจะช่วยให้ทุกคนมีแนวทางในการนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจเลือกแผนการดำเนินชีวิต ที่สำคัญคือการวางแผนเลือกที่อยู่อาศัยในระยะยาว ที่ตอบโจทย์ความต้องการของครอบครัว ความต้องการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” นายรุ่งโรจน์กล่าว