KTBST ชูกลยุทธ์กระจายรายได้บริหารความเสี่ยง

14

KTBST ชูกลยุทธ์กระจายรายได้บริหารความเสี่ยง ก้าวสู่ผู้นำให้บริการผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินครบวงจร รับมือธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แข่งขันรุนแรง มั่นใจผลงานไตรมาส 2/62 เติบโตต่อเนื่อง คงเป้ารายได้ปีนี้แตะ1,300 -1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% มองครึ่งปีหลังดีขึ้น ลุ้นสงครามการค้าไม่ยืดเยื้อ

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเน้นกระจายธุรกิจเพื่อยกระดับการให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรมากขึ้น รับมือกับภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เน้นการกระจายรายได้จากหลายช่องทาง ควบคู่การแนะนำบริหารความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/62 บริษัทมีรายได้รวม 322.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 23.7 ล้านบาท โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริการ เพิ่มขึ้นมาเป็น 50 – 60% จากสิ้นปี 61 ที่มีสัดส่วน 40% ขณะที่สัดส่วนรายได้ธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ลดลงเหลือ 30 – 40% จากสิ้นปี 61 ที่มีสัดส่วน 50%

“ทิศทางผลประกอบการไตรมาส 2/62 เชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารายได้ธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์น่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์รวมที่ลดลง แต่บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น งานวาณิชธนกิจ งานตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน งานบริการทางการเงิน อีกทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (บลจ.วี) บริษัทในเครือ KTBST ได้มีการเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในไตรมาส 2 ที่มีนโยบายมุ่งสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ตามสภาวะการลงทุนแต่ละช่วง โดยปัจจุบันได้เสนอขายกองทุนกองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ต่างประเทศ อาทิ ลงทุนในสหรัฐฯ,จีน,และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับอย่างดี ล่าสุด บลจ.วี อยู่ระหว่างศึกษาโอกาสในการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย” ดร.วิน กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องมือการลงทุน โดยที่ผ่านมาได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น KTBST SMART เป็นแพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลผลิตภัณฑ์การลงทุนของ KTBST ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตราสารทุนหรือหุ้น ตราสารหนี้ อนุพันธ์ กองทุนรวม และการลงทุนต่างประเทศ ไว้ในที่เดียว เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าของ KTBST ในการที่จะดูพอร์ตการลงทุน และข้อมูลการลงทุน เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุน พร้อมมุ่งเน้นพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธุรกรรมการฝากและถอนเงินในบัญชี และรองรับการซื้อขายกองทุนรวม นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดบริการ KTBST SOCIAL TRADING รายแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ผ่านแอพพลิเคชั่น SKYNET Stock Trading ซึ่งเป็นนวัตกรรมการลงทุนในรูปแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์คุณภาพที่แบ่งปันข้อมูล แนวคิด และกลยุทธ์การลงทุน สำหรับนักลงทุนออนไลน์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมผ่านการปฏิบัติจริง

ดร.วิน กล่าวต่อว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 62 ที่ 1,300 – 1,400 ล้านบาท หรือเติบโต 26% ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยบริษัทมุ่งเน้นขยายธุรกิจให้มีความหลากหลาย ทั้งธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) มุ่งเติบโตเป็น 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.33% จากปี 61 ที่ 60,000 ล้านบาท ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) เติบโตเป็น 3,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50% ที่ 2,000 ล้านบาท ธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนตั้งเป้า AUA ที่ระดับ 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% ที่ 10,000 ล้านบาท ขณะที่ บลจ. วี ตั้งเป้า AUM เติบโต 6,000 ล้านบาท และเคทีบีเอสที รีทส์ แมเนจเม้นท์ ตั้งเป้าตั้งกองรีทจำนวน 3 กองทุน มูลค่ารวมกันประมาณ 6,000 ล้านบาท รวมถึงตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งการตลาดของการซื้อขาย TFEX ให้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรม

นายชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ KTBST กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 62 ว่า ช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูง จากภาวะสงครามการค้าที่กดดันเศรษฐกิจไปทั่วทั้งโลก ซึ่งคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป และอาจขยายไปยังคู่เจรจาอื่นนอกจากสหรัฐและจีนด้วย

อย่างไรก็ดี KTBST ประเมินว่าสงครามการค้าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และอาจสามารถหาข้อสรุปได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของประเทศคู่เจรจา รวมถึงเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวจะกดดันให้คณะผู้เจรจาการค้าจำเป็นต้องหาหนทางยุติสงครามการค้าโดยเร็ว การเจรจากันที่สำคัญคาดว่าจะเริ่มในรอบการประชุม G20 ช่วงวันที่ 28 มิถุนายน 62 นี้ โดยคาดว่าจีนต้องการที่จะจบประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มจะกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ที่ใกล้จะหมดวาระ จำเป็นต้องมีผลงานเชิงประจักษ์อย่างการเจรจาต่อรองทางการค้ากับจีนให้เป็นผลสำเร็จและเป็นชาติแรกของโลก เพื่อใช้ในการหาเสียงในการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปี 63 ต่อไป
สำหรับคำแนะนำการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มองว่าการปรับตัวลดลงของสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น เป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นที่แนวโน้มการเติบโตในระยะยาว มีความมั่นคงทางการเมือง และมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่ต่ำ เช่น จีนและอินเดีย เป็นต้น

โดยประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 6 – 6.5% ต่อปี ในระยะยาวประเทศจีนตั้งเป้าจะเติบโตปีละ 5.5% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจและสูงกว่าประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวที่ 3% ซึ่งหากอัตราการเจริญเติบโตของจีนยังอยู่ในระดับดังกล่าว ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปี ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าชาติมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน จีนยังดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายด้านภาษี การสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน ซึ่งสถานะทางการคลังของจีนยังอยู่ในระดับที่ดีมาก ด้วยปริมาณเงินทุนสำรองที่สูงถึง 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในโลก

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์การเติบโตของกำไรของตลาดหุ้นจีนในปี 62 อยู่ที่ประมาณ 17% ในขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่ออัตราการเติบโต (PE to Growth ratio) อยู่ในระดับเพียง 0.78 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ถูกกว่าตลาดเกิดใหม่ที่ระดับ 2.8 เท่า และตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ที่ 1.6 เท่า

สำหรับอินเดีย ยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7% ต่อปี และมีเสถียรภาพทางการเมืองที่สูงขึ้น หลังจากการเลือกตั้งจบลงในช่วงวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นายนเรนทระ โมที ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน โดยภาพรวมของเศรษฐกิจอินเดียนั้น มีลักษณะเป็นกลุ่มประเทศ และเป็นรัฐศาสนา ซึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจจะมาจากภาคการบริโภคในประเทศ (Private Consumption)

ขณะที่ปัจจัยรองลงมาจะเป็นการลงทุนในประเทศจากภาคเอกชน (Private Investment) ซึ่งประเทศอินเดียมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำ โดยพบว่าดุลการค้าเมื่อเทียบกับ GDP คิดเป็นเพียง 10% ของ GDP ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของนายโมที จะช่วยหนุนให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพิ่มเติมไปจนถึงปี 66 ผ่านการสร้างถนนไฮเวย์ใหม่ ระบบประปาทั่วประเทศ การสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลสำหรับชุมชน ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจอินเดียสามารถเติบโตได้จากปัจจัยในประเทศเป็นหลักคล้ายกับประเทศจีนในช่วงปี 50 – 52 (Closed Economy) นอกจากนี้นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ PE ratio to Growth ของอินเดียอยู่ที่ 0.6 เท่า ซึ่งต่ำกว่าทั้งในตลาดโลกและตลาดเกิดใหม่

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นโอกาสในการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ อย่างจีนและอินเดียในช่วงที่ตลาดหุ้น ทั้งสองปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดีการลงทุนในต่างประเทศย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มเติม ทั้งในแง่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการลงทุนที่มีจำกัดกว่าการลงทุนในประเทศ และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาด้านความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย