ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี เผยผลวิจัย “9 ดราม่าทายาทธุรกิจ รุ่น 2 ทางเลือก-ทางรอดของเอสเอ็มอี 4.0” พบปมปัญหา ทั้งขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ ไม่มีอำนาจการบริหารที่แท้จริง และไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งภายในและภายนอกบริษัท พร้อมแนะนำ 3 ทางออกแก้ไขปัญหา พร้อมเปิดตัว TMB SME Insights ต่อยอดธุรกิจ “ได้มากกว่า”
ดร.รุจิกร ภาวสุทธิไพศิฐ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า จากข้อมูล Brand Power of SME Study ปี 2561 พบว่ากว่า 50% ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยบริหารงานโดยทายาทธุรกิจตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไป มีแนวโน้มเติบโตขึ้นกว่า 20% ในเมืองใหญ่ (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มนี้เป็นผู้สร้าง 55% ของจีดีพีของวิสาหกิจขนาดย่อมในประเทศไทย คิดเป็น 2.7 ล้านล้านบาท ถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแข็งแกร่ง แน่นอนว่าเศรษฐกิจของไทยก็จะมั่นคงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ด้วยความสำคัญของกลุ่มทายาทธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงเป็นที่มาของการสำรวจที่ทีเอ็มบี เอสเอ็มอีร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับ โดยเป็นการสำรวจทางออนไลน์กับทายาทธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยจำนวน 200 คน ที่ได้เริ่มเข้ามาบริหารงานแล้วอย่างน้อย 6 เดือน และมีรายได้เฉลี่ย 10 – 100 ล้านบาทต่อปี คละประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม ในการค้นหาปัญหาในทุกๆ มุมของทายาทธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นอุปสรรคในการบริหารงานและการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงการเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทายาทธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถสืบทอดธุรกิจได้อย่างราบรื่น และต่อยอดธุรกิจให้ก้าวไกลได้มากขึ้น
ผลจากการสำรวจ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ได้วิเคราะห์และนำเสนอเป็นบทสรุป “9 ดราม่าทายาทธุรกิจ รุ่น 2 ทางเลือก-ทางรอดของเอสเอ็มอี 4.0” แบ่งเป็น 3 กลุ่มปมปัญหาของทายาทธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดังนี้
ปมปัญหาที่ 1: รากฐานทางธุรกิจ
1. เพราะไม่เคย… เลยไม่เป็น จากการสำรวจพบว่า 36% ของทายาทธุรกิจ เข้ามารับช่วงธุรกิจต่อจากครอบครัว โดยที่ไม่เคยฝึกงานและไม่เคยลองทำงานที่ไหนมาก่อน เมื่อจบการศึกษาก็เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารของบริษัททันที เมื่อรากฐานไม่แน่น ขาด “ประสบการณ์งาน” และ ขาด “ประสบการณ์การบริหารคน” ก็ทำให้บริหารธุรกิจไม่ได้ หรือไม่ราบรื่น
2. เพราะไม่รู้… เลยไปไม่ถูก ทายาทธุรกิจมากถึง 34% ไม่เคยได้รับการสอนงาน หรือการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่ เมื่อไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จึงไม่เห็นภาพของอุตสาหกรรมและไม่สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
3. เพราะไม่รัก… เลยทำไปแกนๆ จากการสำรวจพบว่า 43% ของทายาทธุรกิจ อยากมีธุรกิจตามความชื่นชอบและแนวคิดของตัวเอง แต่ทว่าต้องจำใจสานต่อธุรกิจของครอบครัว เมื่อไม่มีใจรัก ก็บริหารธุรกิจอย่างไม่เต็มความสามารถ เมื่อประสบปัญหาการแข่งขันหรือการเปลี่ยนแปลง ก็มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถสานต่อหรือต่อยอดธุรกิจให้เจริญเติบโตไปกว่าเดิมได้
ปมปัญหาที่ 2: การบริหารงาน
4. อำนาจไม่ใช่ของฉัน พบว่า 70% ของทายาทธุรกิจ เมื่อได้เข้ามาบริหารงานแล้ว กลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องขอคำชี้แนะหรือการอนุมัติจากผู้บริหารรุ่น 1 ก่อนเสมอ
5. โลกกำลังเปลี่ยน แต่เรายังไม่ (ยอม) เปลี่ยน รุ่นบุกเบิกที่บริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จ มักจะเชื่อมั่นในตนเองสูง และจะปฏิเสธทุกครั้งที่ทายาทธุรกิจนำเสนอสิ่งใหม่ ทั้งคู่ค้ารายใหม่ นวัตกรรม ดิจิทัล และระบบการทำงาน อาทิ ระบบดาต้าเบส (Database), อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง (Internet banking, ออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง (Online Marketing) เพราะมองภาพการเติบโตในอนาคตไม่ชัดเจน การปิดกั้นของผู้บริหารรุ่น 1 ทำให้ทายาทธุรกิจไม่สามารถบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อการปรับตัวขององค์กรในยุคแห่งการดิสรัปชั่นอย่างมาก
ปมปัญหาที่ 3: ความเชื่อมั่น
6. คู่ค้าไม่สนิทด้วย ความเชื่อมั่นของลูกค้าและคู่ค้า คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ดำเนินธุรกิจครอบครัวไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ 38% พบว่าลูกค้าและคู่ค้ายังคงเลือกติดต่อเจรจากับผู้บริหารรุ่น 1 อยู่ และมองข้ามทายาทธุรกิจเสมอๆ จึงทำให้การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและคู่ค้าของทายาทธุรกิจ เกิดช่องว่างขึ้น
7. ไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม โดยทายาทธุรกิจ 31% ถูกมองว่าเป็นเด็ก ทำอะไรก็ไม่น่าเชื่อถือ ก็จะถูกประเมินว่าไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจ และทายาทธุรกิจจะต้องพิสูจน์ต่อไป
8. เสียลูกค้า เพราะผู้บริหารรุ่น 1 วางมือ พบว่า 27% ของทายาทธุรกิจต้องเสียลูกค้าให้คู่แข่ง เมื่อผู้บริหารรุ่น 1 วางมือ และทายาทธุรกิจเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ เพราะลูกค้าไม่เชื่อมั่นในการบริหารงานของทายาทธุรกิจ
9. สั่งได้จริงหรือ นอกจากการท้าทายความเชื่อมั่นจากภายนอกบริษัทของทั้งคู่ค้าและลูกค้าแล้ว ทายาทธุรกิจยังต้องเผชิญกับการท้าทายของคนในบริษัท ทั้งพนักงาน เพื่อนร่วมงาน และหุ้นส่วนอาวุโสอีกด้วย โดยพบว่า 85% ไม่ได้รับความไว้วางใจ และถูกท้าทายจากลูกจ้างหรือหุ้นส่วนที่อาวุโสกว่า อีกทั้ง 35% ของพนักงานแสดงความไม่เห็นด้วยทันที ไม่ว่าจะเสนอหรือตัดสินใจอะไร คนที่อยู่มาเก่าก่อนมักจะตั้งแง่ไม่เห็นด้วย แต่ที่หนักกว่าคือ การโดนถามตรงๆ ว่าได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากผู้บริหารรุ่น 1 แล้วหรือไม่
ทั้งนี้ จาก 3 กลุ่มปมปัญหา 9 ดราม่าที่พบ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1. ปรับพื้นฐาน ถ้าทายาทธุรกิจขาดประสบการณ์ ก็ควรเริ่มพัฒนาตนเอง โดยเข้าไปศึกษาหาความรู้จากหน่วยงานองค์กรต่างๆ เช่น ทักษะการบริหารจัดการ การบริหารบุคลากร รวมถึงการเสริมสร้างทักษะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักบริหารขั้นพื้นฐานที่ควรรู้ แล้วเสริมด้วยองค์ความรู้ที่ยกระดับความเข้มข้นขึ้น เช่น LEAN Supply Chain by TMB หรือคอร์สเรียนรู้การเป็นผู้นำต่างๆ
2. สร้างความเชื่อมั่น ด้วยการหาสาเหตุให้เจอว่าทำไมลูกค้า คู่ค้า หุ้นส่วนอาวุโส และพนักงาน ไม่ให้ความเชื่อมั่น เมื่อทราบแล้วก็เสริม ปรับ แก้ และหาสถานการณ์เพื่อพิสูจน์ตนเอง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ๆ ด้วยการหาลูกค้าและคู่ค้าใหม่ด้วย สำหรับปัญหาผู้ร่วมงานในองค์กรนั้น แนะนำให้กลับมาสำรวจอัตราค่าจ้างและสวัสดิการของบริษัทดูว่าตอบโจทย์และเพียงพอต่อคนทำงานยุคนี้หรือไม่ หากตั้งใจแก้ไขปัญหานี้ด้วยความจริงใจ เชื่อว่าจะได้ใจจากผู้ร่วมงานมากขึ้น
3. ผสานการบริหาร เมื่อมั่นใจในตนเอง และได้รับความเชื่อมั่นจากคนรอบข้างเพิ่มขึ้น ทายาทธุรกิจก็จะมีความพร้อมมากขึ้นในการบริหารงาน โดยเริ่มจากขอแบ่งอำนาจการตัดสินใจจากผู้บริหารรุ่น 1 อย่างจริงจัง ด้วยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก่อน เพื่อให้ฝ่ายบริหารและผู้บริหารรุ่น 1 ไว้วางใจในการบริหารงาน พร้อมหาข้อมูลและกำลังสนับสนุนของตนเอง เช่น การหาข้อมูลสถิติต่างๆ การมีที่ปรึกษาทางธุรกิจ รวมทั้งหาโอกาสทำ Business Matching การจับคู่ธุรกิจเพื่อหาเน็ตเวิร์กที่ดียิ่งกว่าสำหรับการเติบโตและความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคต
“นอกจากนี้ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ได้เปิดตัว TMB SME Insights (http://tmbbank.com/sme-insights) โดยเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูล ข่าวสาร บทความ เทคนิคการบริหารงานสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และบทวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึกจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถศึกษาได้อย่างสะดวกและนำไปต่อยอดธุรกิจได้ ทั้งนี้ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี เชื่อมั่นว่างานวิจัย “9 ดราม่าทายาทธุรกิจ รุ่น 2 ทางเลือก-ทางรอดของเอสเอ็มอี 4.0” และแนวทางแก้ปัญหาที่นำเสนอนั้น จะเป็นส่วนช่วยให้ทายาทผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถก้าวผ่านช่วงรอยต่อของการสืบทอดธุรกิจได้อย่างราบรื่น และสามารถเติบโตต่อยอดธุรกิจให้ก้าวไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ดร. รุจิกร กล่าวสรุป