กรมควบคุมโรค แนะนำวิธีการจัดการภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ เน้นจัดการตนเองและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนเครียดจากการทำงาน หรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย อาจเกิดภาวะโรคหมดไฟจากการทำงานได้ สำหรับคำแนะนำในการจัดการภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ 2 ด้าน คือ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยมติที่ประชุมพิจารณาให้จัดการภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์เป็นครั้งแรกในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (ICD-11) เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคและการประกันสุขภาพใหม่ทั่วโลก ซึ่งกรมควบคุมโรค จะได้หารือวางแผน เพื่อพิจารณาระบบเฝ้าระวังและบูรณาการกับกรมสุขภาพจิตในการควบคุมและป้องกันโรคต่อไปในอนาคต
ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน อาจเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สภาพแวดล้อมและการจัดการขององค์กร ทักษะและความสามารถของพนักงานในการจัดการปัญหาความไม่สมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว รวมทั้งการสนับสนุนขององค์กร ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติทางจิตหรือนำไปสู่การใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติด การรังแกและการคุกคามทางจิตวิทยาเป็นสาเหตุของความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนงาน ส่งผลต่อปัญหาทั้งทางจิตใจและร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีการจัดการกับภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ 2 ด้าน 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ 2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422