สสส.จัดประชุมใหญ่ครั้งแรก “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ” ชวนคนทำงานด้านสังคม รัฐ เอกชน ภาคประชาสัมคม และเครือข่าย 8 ประชากรกลุ่มเฉพาะ คนพิการ ผู้ต้องขัง คนไร้บ้าน ฯลฯ ร่วมสร้างสุขภาวะ พร้อมโชว์ผลงาน 1 ทศวรรษความเป็นธรรมทางสุขภาพ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ(สำนัก9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.จัดประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ“ Voice of the voiceless: the vulnerable populations” ระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2562 ที่ อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อเป็นเวทีวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสำหรับภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน
เปิดพื้นที่ในการพูดคุยพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะ ความเป็นธรรมทางสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงสื่อสารสาธารณะไปยังสังคมให้มีความเข้าใจ ให้โอกาส และมีทัศนคติเชิงบวกกับประชากรกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสสส.พยายามขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะ ลดความเหลื่อมล้ำในประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งจะมีการแสดงผลการทำงาน 1 ทศวรรษความเป็นธรรมทางสุขภาพที่ประสบผลสำเร็จ อาทิ นวัตกรรมการจ้างงานคนพิการ ซึ่งสสส.สนับสนุนผ่านมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีการจ้างงานได้ 15,000 อัตรา หรือสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานกลุ่มคนไร้บ้าน พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ให้เป็นผู้สูงอายุที่กระฉับกระเฉง เตรียมความพร้อมประชากรทุกกลุ่มก่อนประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 และสังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574
“เครือข่ายคนที่ทำงานกับประชากรกลุ่มเฉพาะ มักเจอปัญหา อุปสรรค เวทีนี้จะได้รับการพูดคุย เยียวยา ฟื้นฟูให้กำลังใจกัน สร้างแรงบันดาลใจต่อกัน เริ่มจากทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองก่อน เพื่อมีพลังในการช่วยเหลือคนอื่นต่อไป”นางภรณีกล่าว
นางภรณี กล่าวต่อว่า สำหรับไฮไลท์ของการประชุมมีประเด็นน่าใจมากมาย โดยมีห้องย่อยรวมกว่า 14 ห้อง ใน 8 กลุ่มประชากร อาทิ ประเด็นเรือนจำสุขภาวะ คุณภาพชีวิตของผู้ต้องหาในเรือนจำ โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.คลัง และอดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาพูดถึงทัศนะของหมอที่เคยเข้าไปทำงานคลุกคลีอยู่ในเรือนจำ
การเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพในมิติต่างๆ เช่น ผู้หญิงพิการที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะคนพิการทางการได้ยินจะมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น หรือการถูกคุกคามทางเพศที่เกิดจากสังคมโซเชียล เช่นการใช้คำพูดเสียดสี ด่าทอ พวกเขาผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้สังคมจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
นางภรณี กล่าวต่อว่า ผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สสส.คาดหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนงานวิชาการระหว่างกลุ่มตามประเด็นเพื่อให้ได้องค์ความรู้/ชุดความรู้สำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ แชร์ โชว์ และเชื่อมผลงานเด่นของแต่ละกลุ่มประชากร พัฒนาภาคีหน้าใหม่ที่สนใจร่วมงานในแต่ละประเด็น รวมถึงพัฒนา ต่อยอด กระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่าย เกิดประเด็นการทำงานร่วมที่เป็นรูปธรรมแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะในระยะต่อไป
ที่สำคัญคือ อยากเห็นการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะในหลายประเด็นสสส.ไม่สามารถทำงานเพียงลำพัง สสส.ทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานกับหลายหน่วยงาน เช่นเรื่องเศรษฐกิจ การจ้างงาน โดยได้เชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากกว่า 30-40 แห่งเข้ามาร่วมด้วย
นอกจากจะมีการพูดคุยประเด็นวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการ การแสดงของประชากรกลุ่มเฉพาะกลุ่มต่างๆ การจำหน่ายสินค้าฝีมือของผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน ผู้ต้องขัง คนพิการฯ อีกด้วย