ETDA จัดยิ่งใหญ่งาน Thailand Cybersecurity 2019 จับมือ 2 องค์กรชั้นนำระดับโลก “RSA® Conference และ CYBERTECH”ระดมกูรูด้านซีเคียวริตี้ ร่วมเวทีสัมมนาอัปเดตและแชร์เทรนด์ใหม่ๆ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผนึกอาร์เอสเอ คอนเฟอเรนซ์ (RSA® Conference) และไซเบอร์เทค โกลบอล อีเวนต์ (CYBERTECH Global Events) 2 องค์กรอีเวนต์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับโลก ร่วมจัดงาน “Thailand Cybersecurity 2019” มหกรรมนิทรรศการและการประชุมระดับสากล ภายใต้แนวคิด Cybersecurity Digital Transformation ให้คนไทยพร้อมรับ-ปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย ด้วยเวทีสัมมนาผู้เชี่ยวชาญมาอัปเดตและแชร์เทรนด์ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ใหม่ๆ ชมนวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัย และเปิดโต๊ะให้เจรจาธุรกิจด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 19-20 มิถุนายน 2562 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์เซ็นทรัลพลาซา (ลาดพร้าว)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานเปิดงาน Thailand Cybersecurity 2019 กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เดินหน้าสานต่อพันธกิจการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามกรอบ SIGMA ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ด้าน ได้แก่ S (Cyber Security) การปกป้องคุ้มครองข้อมูล ทั้งข้อมูลส่วนตัว องค์กรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ห่างไกลจากภัยไซเบอร์ I (Digital Infrastructure)เน้นให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น โครงการหมู่บ้านประชารัฐ ให้ชุมชนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เคเบิลใต้น้ำ และsmart city G (Digital Government) เน้นวางยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น ประชาชนเข้าถึงภาครัฐดียิ่งขึ้น M (Digital Manpower) เน้นพัฒนาบุคลากรกำลังสำคัญในการเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นดิจิทัล 4.0 และ A (Digital Applications) สื่อกลางที่ช่วยเปิดอุตสาหกรรมประเทศไทย ทั้งธุรกิจที่มีอยู่ในตลาดแล้วและธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้าน“Security”ด้านสำคัญที่ส่งเสริมให้ด้านอื่นๆ ทั้ง infrastructure government applications รวมทั้งด้าน manpower สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาระบบสารสนเทศ ถูกคุกคาม โจมตี จาก“ภัยไซเบอร์”อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ European Parliament พบสถิติภัยคุกคามไซเบอร์ของโลกที่น่าสนใจ ประจำปี 2018 คือ 92% ของการติดมัลแวร์มาจากช่องทางอีเมล์ และ Web-based attacks –มีแนวโน้มการโจมตีระบบ CMS เพิ่มขึ้น รวมทั้ง Web application/injection attacks – SQL injection is the most common ส่วนฟิชชิ่งถูกใช้เป็นช่องทางการกระจายมัลแวร์ถึง 90% และเป็นต้นเหตุของ data breaches ถึง 72% ขณะที่ DDoS หรือ การจู่โจมเว็บไซต์เป้าหมาย โดยอาศัยการรุมจู่โจมจากหลายๆ ที่พร้อมๆ กัน ส่วนไทย จากสถิติการรับมือภัยคุกคามของไทยเซิร์ต ปี 2018 พบว่า ได้รับแจ้งเหตุและประสานงานรับมือภัยคุกคามทั้งสิ้น 2,520 ครั้ง รูปแบบภัยคุกคามพบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ภัยจากการบุกรุกหรือเจาะเข้าระบบ (Intrusion Attempts) รองลงมาคือการฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ (Fraud) และการบุกรุกหรือการเจาะระบบได้สำเร็จ (Intrusions)
“ดังนั้น ภัยคุกคามไซเบอร์ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนไม่ควรมองข้าม กระทรวงดิจิทัลฯ มีภารกิจในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมธุรกรรมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งยังมีบทบาทใหม่ในการเป็น Regulator ที่กำกับดูแลการทำธุรกิจบริการด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และในอนาคตจะมี 2 หน่วยงานใหม่ อย่าง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและดำเนินงานในการส่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการทำธุรกรรมออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ พร้อมขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนไทย ให้ก้าวสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่มีความมั่นคงปลอดภัย มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ ซึ่งการสร้างความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์นี้ ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเดินหน้าลงมือทำไปพร้อมกัน” ดร.พิเชฐ กล่าว
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า การจัดงาน Thailand Cybersecurity 2019 ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการจัดงานใหญ่ด้าน ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีจุดเริ่มต้นจากงาน Thailand Cybersecurity Week 2017 ในปี 2560 ต่อเนื่องมาสู่งาน “Big Change to Big Chance” ในปี 2561 ในโอกาสครบรอบ 8 ปีเอ็ตด้า ซึ่งไฮไลต์หนึ่ง คือ งานด้านความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ภายใต้การขับเคลื่อนของเอ็ตด้า เพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญว่า “ความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์เป็นเรื่องของทุกคน” และมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
โดย “งาน Thailand Cybersecurity 2019” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Cybersecurity Digital Transformation เพื่อให้คนไทยพร้อมรับ-ปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย นับเป็นงานอีเวนต์ระดับสากล
โดยการผนึกกำลังกับ อาร์เอสเอ คอนเฟอเรนซ์ (RSA® Conference) และไซเบอร์เทคโกลบอล อีเวนต์ (CYBERTECH Global Events) องค์กรชั้นนำของโลกในการจัดอีเวนต์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่ได้นำงาน RSA®C UNPLUGGED และ CYBERTECH ASIA 2019 มาจัดพร้อมกัน เพื่อแชร์ประสบการณ์ด้าน Cybersecurity ระดับโลก ด้วยมุมมองและข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
“งานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรและบริษัทชั้นนำด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก ในการจัดงานครั้งนี้องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชน นิสิตนักศึกษา ฯลฯ สามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น พร้อมร่วมฟังเวทีสัมมนาที่มีสปีคเกอร์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและไทยกว่า 25 คน มาให้ความรู้มาร่วมอัปเดต และแชร์เทรนด์ซีเคียวริตี้ใหม่ๆ เช่น The Next Chapter for AI: Ethics and Governance – Data Governance and Privacy Program Management – Regulator’s Roles and Responsibilities – Cyberthreat Landscape in Thailand and the Asia Pacific Region ฯลฯ พร้อมชมนิทรรศการนวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จากองค์กรชั้นนำทั่วโลกมากมายและการเปิดโต๊ะให้เจรจาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Cybersecurity” นางสุรางคณา กล่าว