2 ปี UCEP ไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร

44

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดเสวนา  “2 ปี UCEP ไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร” พร้อมชูเสนอตั้งกองทุนกลาง สำรองจ่าย กรณีมีข้อพิพาทกับโรงพยาบาลเอกชน  ป้องกันปรากฏการณ์ ต่อคิวร้องศาล เตรียมชงเปลี่ยนชื่อ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เป็น”เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่กับประชาชน พร้อมเตรียมเสนอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับให้รองรับนโยบาย UCEP ได้มากยิ่งขึ้น ด้านภาคประชาชนกระตุ้นรัฐ เร่งยกระดับสถานพยาบาล-รถกู้ชีพ ให้มีศักยภาพ   เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ

ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. จัดเสวนาและรับฟังความคิดเห็น การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล  เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่  “ 2 ปี UCEP ไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร : Next Step for UCEP” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักวิชาการเข้าร่วมเสวนา

นพ.สัญชัย  ชาสมบัติ  รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า  รัฐบาลได้เริ่มโครงการนี้เมื่อ 1 เมษายน 2560 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยได้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนที่ใช้บริการ โรงพยาบาลเอกชนทั้งประเทศที่ให้บริการ และกองทุนสุขภาพต่าง ๆที่พยายามร่วมผลักดันให้โครงการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่พบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก มีผู้เข้าเกณฑ์ได้ใช้สิทธิในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 4 หมื่นราย มีปัจจัยแห่งความสำเร็จอยู่หลายประการเช่น มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในเชิงกฎหมาย มีเกณฑ์กลางเพื่อใช้ในการคัดแยกระดับความรุนแรงของผู้ป่วยฉุกเฉิน มีอัตราและบัญชีจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ครอบคลุมการรักษาที่จำเป็น มีหน่วยงานกลางรวบรวมและคำนวณค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น

“จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยอาการฉุกเฉินวิกฤตินี้ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที่จะเสียชีวิต มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 88% ณ วันที่ย้ายออกจากโรงพยาบาลแรกไปสู่โรงพยาบาลต้นสังกัดหรือที่โรงพยาบาลรับย้าย และผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน มีผู้ใช้บริการมากในเมืองใหญ่ๆ กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้บริการมากที่สุดและมีประมาณ 10 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในโครงการเลย  อาการเจ็บป่วยที่เข้าเกณฑ์ที่พบมากได้แก่ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หมดสติ อัมพาต และหัวใจหยุดเต้น” รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากซึ่งต้องทำให้เกิดความยั่งยืน กุญแจสู่ความยั่งยืนคือ การให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ฝั่งผู้ป่วยก็ใช้สิทธิ์โดยสุจริต โรงพยาบาลก็ให้การดูแลตามมาตรฐานทางการแพทย์ไม่แยกสิทธิหรือสถานการณ์จ่าย อัตราจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเป็นธรรม อาจต้องมีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ไขบางประเด็นเช่น คำนิยาม 72 ชม การพ้นวิกฤติเป็นอย่างไร เพิ่มประเด็นใกล้ที่ใหน ไปที่นั่น และอาจต้องมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อทำการบริหาร UCEP เป็นการเฉพาะอีกด้วย

ด้านนายแพทย์การุณย์  คุณติรานนท์   รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องUCEP  สิ่งสำคัญคือแก้ทั้งระบบ ทำอย่างไรให้ภาครัฐ เล็งเห็นปัญหา และทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะ การใช้บริการ นอกเวลาราชการ ทำอย่างไรให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ  อัตรากำลังคนของโรงพยาบาลมีเพียงพอหรือไม่ จึงเป็นที่มาในการให้ภาคเอกชนมาหนุนเสริม  ถัดมาคือเรื่อง ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ก่อนถึงโรงพยาบาลเองก็มีความสำคัญอย่างมาก  โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ กว่าประชาชนจะเข้ามาใช้บริการในระบบได้ ต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากมีปัญหาจราจร  ที่ผ่านมา มีประชาชน ใช้บริการ  EMS ไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือประชาชนมาเอง ทำอย่างไร ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นตรงนี้ เพราะระบบ EMS จะเป็นระบบที่คัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้น  ในภาวะวิกฤติ หรือไม่วิกฤติ และรถที่ไปให้บริการก็ต้องมีคุณภาพระดับหนึ่ง  รวมทั้งต้องมีศูนย์สั่งการที่ชัดเจน  นอกจากนี้ การเบิกจ่ายก็สำคัญ เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวน ขณะที่คุณภาพการให้บริการ ก็ต้องมาทบทวนเช่นกัน เพราะตั้งแต่มีโครงการนี้มา เราไม่เคยพูดในส่วนนี้เลย ขณะที่การอุทธรณ์กรณีมีข้อพิพาท ก็ควรอยู่ในระบบ เปิดโอกาสให้ประชาชนอุทธรณ์ และมีระบบการไกล่เกลี่ย สุดท้ายเรื่อง ศักยภาพของโรงพยาบาล ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชน ว่าโรงพยาบาลไหน มีศักยภาพและเชียวชาญในการรักษาโรคอะไร

ขณะที่นพ.ขวัญประชา  เชียงไชยสกุลไทย  สำนักวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กล่าวว่า  อัตราค่าบริการที่กำหนดให้ จ่ายด้วย Free Schedule ขอเรียนว่า เราสามารถทำเรื่องเบิกจ่ายได้ 49 เปอร์เซ็นต์ของอัตราเรียกเก็บ ค่าบริการที่เราเบิกได้มากสุดคือ ค่ายา ในโรงพยาบาลรัฐบาล และค่าบริการวิชาชีพในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนค่ายาในโรงพยาบาลเอกชน การเบิกจ่ายจะแตกต่างกันมาก แต่ราคายาที่เรากำหนดจะอยู่ช่วงราคากลางพอดี  โรงพยาบาลเอกชน ประกอบด้วย โรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์ โรงพยาบาลเอกชนทั่วไป และโรงพยาบาลมูลนิธิ  อัตราการเรียกเก็บไม่แตกต่างกัน   สิ่งที่เราอยากทำ อยากจ่ายครบถ้วนทุกรายการ  ที่ผ่านมา กองทุนของเรากังวล จะทำอย่างไรให้อยู่ในรายการเราได้  ถ้ามีรายการไหนเพิ่มก็ขอให้แจ้งมา เราจะทำการเพิ่มเติมเข้าไปให้  อย่างเรื่องการเบิกค่ายา สงสัยว่ามีการฮั้วกับบริษัทยาหรือไม่  อย่างยาพารา 1 เม็ด ราคา ต้องเท่ากันทุกบริษัท เข้าใจว่าเอกชน มียาบางยี่ห้อที่มีราคาแพง  เราจึงกำหนดราคา ตาม trad name เพื่อให้ใกล้เคียงกับราคากลาง  ดังนั้น การปรับปรุงระบบการคิดราคายา มีทางเลือกอยู่ 3 ทางคือ 1. กำหนดตาม Generic Name และ Original 2.กำหนดตาม Generic Name + เพิ่มราคาที่สูงขึ้น 3. กำหนดตาม Tradename แต่เพิ่มรายการให้ครอบคลุม

รศ.ดร.นายแพทย์เฉลิม  หาญพาณิชย์  นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า  โรงพยาบาลเอกชนยินดีให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก กรณีที่มีการบอกว่าค่ายาเอกชนแพงนั้นตนขอเรียนว่าต้นทุนของแต่ละโรงพยาบาลมีไม่เท่ากัน เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนนี้  เบื้องต้นควรมีการตั้งคณะกรรมการมาประชุมร่วมกัน ในการกำหนดราคา โดยประชุมกันทุกปี ซึ่งราคาที่คิดมา ผู้ใช้บริการรับได้ และผู้ให้บริการอยู่ได้ ถัดมาเรื่อง การดูแลก่อนถึงโรงพยาบาลการดูแลอย่างทันท่วงที หรือ  pre Hospital Care ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ที่ผ่านมา ประชาชนเสียค่ารถมาเองเสียส่วนใหญ่  ต้องมาดูว่า รถพยาบาล ควรอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือ อยู่ตามชุมชน  และตัวรถEMS เอง มีอุปกรณ์ครบ ได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน ปัญหาที่สำคัญ เรื่อง UCEP มีหลายเรื่อง ยกตัวอย่าง  ในหลายกองทุน ไม่สามารถทำการเบิกจ่ายได้ ต้องรีบแก้ไข ไม่ใช่ เบิกไม่ได้แล้วรอก่อน  ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนเราเคยเสนอให้ สพฉ.มีการตั้งกองทุน ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ แต่ยังไม่ทราบความก้าวหน้า ฉะนั้นการแก้ไขปัญหา  รวมถึงเรื่อง 72 ชั่วโมง การส่งต่อผู้ป่วยถ้าพ้นวิกฤติ ไม่จำเป็นต้อง 72 ชั่วโมง ก็สามารถส่งต่อได้ เราไม่ได้มุ่งหวังที่ต้องครบ 72 ชั่วโมง เมื่อส่งต่อแล้ว เกิดคำถามว่า โรงพยาบาลภาครัฐเอง มีเตียงเพียงพอให้กับคนไข้หรือไม่  เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำ จากนี้ต้องดูในภาพใหญ่ โครงการถึงจะยั่งยืน ที่สำคัญนิยามการเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องชัดเจน ถ้าไม่ทำตรงนี้ระบบจะรวนมาก

ด้าน นางสาวรุ่งนภา ทองเมือง ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ในส่วนของประกันสังคมในการเบิกจ่ายตามนโยนบาย UCEP นั้นเรามีการทำมานานแล้ว และโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคมนั้นมีศักยภาพเพียงพอ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในโรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะในต่างจังหวัดอาจมีปัญหาบ้างแต่ก็ไม่มาก ถามว่าช่องทางอื่นที่ไปไหนก็ได้ กรณีฉุกเฉินที่สามารถเบิกจ่ายได้นั้น ทางโรงพยาบาลคู่สัญญา มีหน้าที่รับผิดชอบประสานอยู่แล้ว ตรงนี้ ไม่ต้องกังวล ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย หากผู้ประกันตนไม่ขอใช้สิทธิ UCEP  ผู้ประกันตนสามารถสำรองจ่ายไปก่อน และมาทำเรื่องขอคืนเงินชดเชย โดยเฉพาะในส่วนที่เกิน 72 ชั่วโมงได้ ผ่านกองทุนทดแทน  สำหรับโรคที่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือโรคร้ายแรง โดยจะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาตามเคสนั้นๆ  ส่วนกรณีคนไข้พ้นวิกฤติ 72 ชั่วโมง โรงพยาบาลต้นสังกัดไม่เอากลับ   รวมทั้ง เคสที่เบิกเงิน ในโครงการUCEP ล่าช้า 3-6 เดือน ตรงนี้มีการถามเข้ามาเยอะ เบื้องต้น อยากให้มีการร้องเรียนมา เราจะทำการตรวจสอบ ให้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา วงเสวนา มีมติเป็นข้อเสนอแนะที่ต้องแก้ไข ประกอบด้วย 1. การแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรมกับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และสถานพยาบาล 2. เร่งรัดการแก้ไขระเบียบให้รองรับการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาคืนแก่สถานพยาบาลกองทุนต่างๆ 3. จัดตั้งกองทุนกลางเพื่อเบิกจ่ายให้กับสถานพยาบาลแทนกองทุนที่ไม่มีศักยภาพพอจ่าย 4.พัฒนาเกณฑ์โปรแกรมการคัดแยก ระดับความฉุกเฉิน ให้มีความถูกต้องแม่ยำในการคัดแยก 5. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจในการรับบริการของโครงการ ทั้งในเรื่องของความหมาย ของคำว่า ภาวะฉุกเฉินวิกฤติ และการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สุด 6.กำหนดนิยามคำว่า พ้นวิกฤติให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิประชาชน 7.ปรับระบบการคิดราคายาและเวชภัณฑ์ในบัญชีแนบท้าย (Fee Schedule ) ให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 8. พัฒนาระบบการรับเรื่องร้องเรียนให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถอุทธรณ์ได้ และควรมีระบบการไกล่เกลี่ย9.ชื่อโครงการ ควรเปลี่ยนจาก “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ “ เป็น”เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ ใกล้ที่ไหนปที่นั่น ทั้งรพ.รัฐและเอกชน”10. การออกประกาศ ระเบียบ และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภาครัฐควรให้มีตัวแทนผู้บริโภคมามีส่วนร่วมด้วยเพื่อลดความขัดแย้ง และเป็นธรรม11. เร่งรัดให้มีการพัฒนาโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินในการลดความแออัด และให้บริการอย่างมีมาตรฐาน