ครอบครัว จุดเริ่มต้น และจุดเปลี่ยนของมายาคติ 

37

แม้ปัจจุบันหลายคนจะมองว่าความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในสังคมแล้ว แต่จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมถึงมายาคติที่หลายคนยังเข้าใจผิด ทำให้เราต้องกลับมาย้อนดูว่าจริง ๆ แล้ว เสียงของบุคคลหลากหลายทางเพศ ถูกยอมรับแล้วจริง ๆ หรือไม่?

“ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง ชายรักชาย หญิงรักหญิง เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ต่างก็เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกัน แต่หากคนในสังคมมองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมักจะคิดว่าเป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลุ่มคนชอบเพศเดียวกัน” คุณโน๊ต เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้อธิบายว่า คำถามที่มักจะตามมาในประเด็นนี้อยู่เสมอคือ “รู้ตัวว่าเป็นแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบที่ได้จะขึ้นกับว่าคุณไปถามใคร มีตั้งแต่ตอบว่า Born to be เป็นตั้งแต่เกิน ไปจนถึงมีลูกมีเมียแล้วถึงรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง”

บนเวทีการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ “Voice of the voiceless: the vulnerable populations” คุณโน๊ต เล่าเรื่อง “ครอบครัว จุดเริ่มต้น และจุดเปลี่ยนของมายาคติ” ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวสมัยเด็กที่ใช้ชีวิตปกติมาโดยตลอด แต่เมื่อวันหนึ่งเพื่อนที่โรงเรียนเริ่มเรียกว่า ตุ๊ด แต๋ว กะเทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกแตกต่าง

สังคมไทยคือสวรรค์ของความหลากหลายทางเพศจริงหรือ?

“ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของความหลากหลายทางเพศ โลกยอมรับเรื่องนี้ได้แล้ว นี่คือสิ่งที่หลายคนเข้าใจ” คุณโน๊ต เล่าว่า จากการศึกษาวิจัยของโครงการติดตามการฆ่าสังหารคนข้ามเพศ (Transgender Monitoring) โดยสหภาพคนข้ามเพศยุโรปตั้งแต่ปี 2008 – 2018 พบว่า มีคนข้ามเพศ กะเทย หรือสาวประเภทสอง ถูกฆ่าหรือสังหารกว่า 2,986 คน ในขณะที่ประเทศไทยได้เก็บข้อมูลภายใต้โครงการเดียวกันพบว่า มีคนข้ามเพศที่อายุตั้งแต่ 13-53 ปี ถูกฆ่าถึง 21 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่คือ “ฆ่าเพราะความเกลียดชัง”

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีการศึกษาโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศพบว่า สถานการณ์ความรุนแรง การตีตรา และการถูกเลือกปฏิบัติ กลุ่มหญิงรักหญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงประมาณ 11% กลุ่มชายรักชาย 13% และกะเทยหรือคนข้ามเพศ 34.8% ซึ่งหากมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ตัวเลขอาจมีเพิ่มขึ้น โดยผลการศึกษาที่สำคัญพบว่า สถาบันที่กระทำความรุนแรงที่สุดอันดับหนึ่งคือ ครอบครัว รองลงมาคือ สถาบันการศึกษา และที่ทำงาน ตามลำดับ

จุดเริ่มต้นของเสียงที่แตกต่าง

คุณโน๊ต บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองโดยเริ่มเล่าถึงความแตกต่างที่ได้รับรู้จากการถูกเพื่อนเรียกว่าตุ๊ด กะเทย หรือแต๋ว ว่า “มันทำให้เรียนรู้ว่า เรามีพฤติกรรมแตกต่างจากเด็กผู้ชายคนอื่น เราเรียนรู้ว่านี่เองที่คนเรียกว่าสาวประเภทสอง หรือกะเทย” จากความแตกต่างทำให้เกิดการตั้งคำถามของครอบครัว เริ่มมีคำถาม เริ่มสงสัย โดยสิ่งที่ครอบครัวทำคือ “ส่งไปบวช”

“การเข้าไปอยู่ในวัด ถูกควบคุมการตื่น การนอน การกิน แต่สิ่งที่เจอในวัดคือ เณรที่ตุ้งติ้ง พระที่ตุ้งติ้ง หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘หลวงแม่’ ‘หลวงเจ๊’ ทำให้รู้ว่า สิ่งที่เราเป็นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลยต้องมาบวชเพื่อแก้กรรม” หลังออกจากวัดจึงต้องเก็บซ่อนความรู้สึกในใจ เพราะไม่อยากถูกส่งมาที่วัดอีก แต่ความลับไม่มีในโลก เมื่อวันหนึ่งคุณแม่มาช่วยจัดของในกระเป๋าและพบกับซองยาที่ไม่มีฉลาก จึงคิดว่าเป็นยาเสพติดและได้นำไปสอบถามที่ร้านขายยา โดยคำตอบที่ได้รับคือ ยาดังกล่าวเป็น “ยาฮอร์โมนเพศหญิง”

“แม่มาคุยตรง ๆ ว่าเป็นเด็กผู้ชายทำไมต้องกินยาฮอร์โมนผู้หญิงด้วย” คุณโน๊ต ตอบกลับง่าย ๆ ว่าตนอยากเป็นผู้หญิง เลยกินยาฮอร์โมนเพศหญิง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณโน๊ตต้องไปพบกับจิตแพทย์ เพื่อหาทางออกให้กับครอบครัว

คำถามแรกที่หมอถามคือ “อยากไปอยู่ทิฟฟานี่ หรืออัลคาซ่าไหม?” แต่ในใจของคุณโน๊ตต้องการเพียงแค่อยากให้ครอบครัวยอมรับในความเป็น “เรา” ไม่ได้ต้องการจะไปเป็นนางโชว์หรือนักแสดง คุณหมอจึงได้วาดเส้นตรงลงบนกระดาษ โดยที่ปลายเส้นคือเลขศูนย์ อีกด้านคือเลขสิบ แล้วให้คุณโน๊ตเลือกเปรียบตัวเองว่า หากเลขศูนย์คือผู้ชาย เลขสิบคือผู้หญิง คำตอบของคุณโน๊ตที่สามารถตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยคือ ตนอยู่ที่เลขแปด และในอนาคตจะไปอยู่ที่เลขสิบ นั่นคือการเปลี่ยนเพศและทำหน้าอกในที่สุด

สิ่งที่คุณหมอแนะนำต่อคือ หากอยู่ที่เลขศูนย์หรือเป็นผู้ชายไม่ได้ ขอให้อยู่ที่เลขห้า เป็นแค่เกย์ แค่ชายรักชาย ไม่ต้องไว้ผมยาว ไม่ต้องแต่งหน้า ไม่ต้องแสดงออก ไม่ต้องศัลยกรรม เพื่อให้ง่ายต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ว่าในใจจะรักและชอบเพศเดียวกัน แต่ก็ไม่ต้องเปิดเผยว่าเป็นใคร

“ในใจไม่เชื่อที่คุณหมอแนะนำนะ แต่เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ เราไม่ใช่เกย์ ไม่ใช่ชายรักชาย แต่เราเป็นสาวประเภทสอง เราเป็นกะเทย” คุณโน๊ต เล่าต่อว่า ครอบครัวพยายามหาสาเหตุถึงการที่โน๊ตเป็นแบบนี้ ซึ่งหมอให้คำตอบที่แทงใจดำว่า “เพราะพ่อไม่สามารถเป็น role model (แบบอย่าง) ที่ดีให้กับลูกได้ ลูกจึงไปเลียนแบบพฤติกรรมของแม่และซึมซับความเป็นผู้หญิงแทน”

เสียงที่ครอบครัวไม่ได้ยิน

จากที่เราไปโรงพยาบาลอย่างมีความหวังเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจกับครอบครัว เรากลับเดินออกมาจากโรงพยาบาลอย่างสิ้นหวัง จากบ้านที่เคยมีความสุข กลายเป็นบ้านที่เหมือนติดกล้องวงจรปิดเอาไว้ทั่ว โน๊ตถูกจับตามองแม้กระทั่งกิริยาท่าทางในการกิน การเดิน การนอน ถูกห้ามแต่งหน้า ห้ามแต่งชุดผู้หญิง และยังถูกห้ามคบเพื่อนสนิทที่สุด ซึ่งเป็นกะเทย

“โน๊ตได้แต่ร้องไห้เพราะทำให้ครอบครัวผิดหวัง ทำให้ทุกคนเสียใจ แต่เมื่อเรามองย้อนกลับไป ‘พ่อ’ ที่เป็น Family man เป็นคนที่ดูแลครอบครัวไม่เคยขาดตกบกพร่องในการเลี้ยงดู กลับถูกคุณหมอกล่าวหาว่าเป็นความผิด ท่านจะรู้สึกอย่างไร”

คุณหมอได้แนะนำวิธีการพาโน๊ตให้กลับมาเป็นลูกโน๊ตที่ครอบครัวคาดหวังมีอยู่สองวิธีคือ 1. พาไปยังคลินิกที่รักษาบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ และ 2. ใช้วิธีครอบครัวบำบัด ใช้ชีวิตกับครอบครัวมากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งคุณแม่ได้เลือกวิธีนี้

ในช่วงนั้นคุณโน๊ตได้เปรียบการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเป็นการใช้ชีวิตในนรก แต่ประจวบเหมาะที่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ จึงเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อจะไปให้ไกลที่สุดจากบ้าน เพราะไม่ต้องการถูกจับจ้อง จับตามอง และเลือกลงเรียนในทุกช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เพื่อเลี่ยงการกลับบ้านในช่วงปิดเทอม ทำให้สามารถจบปริญญาตรีภายในสามปีครึ่ง

จุดเปลี่ยนของมายาคติ

หลังจากเรียนจบคุณโน๊ตได้ทำงานในประเด็นด้านสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “กะเทย” หรือ “สาวประเภทสอง” ต่อมาได้ก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยร่วมกับเพื่อนและคนจัดทำโครงการ การสร้างแนวปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นกะเทย โดยได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสุขภาวะทางเพศ มีมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) เป็นพี่เลี้ยง จนในปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน”

“เราต้องการพัฒนาเครื่องมือที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกะเทยหรือสาวประเภทสอง และทำให้พวกเขาเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น เพราะหลังจากทำงานไปเรื่อย ๆ ทำให้เราคิดถึงครอบครัวของตนเองในอดีต การที่เราเป็นกะเทยหรือสาวประเภทสองทำให้ท่านต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน รับแรงกดดันต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะจากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน คนรอบข้าง หรือเพื่อนร่วมงานที่ต่างถามว่า เลี้ยงลูกยังไงให้ผิดเพศ”

จากเดิมที่ครอบครัวมีความกังวลที่มีลูกหรือคนในครอบครัวเป็นกะเทยหรือเป็นสาวประเภทสอง ก็กังวลเพิ่มขึ้น กังวลว่าจะไม่มีงานที่ดี กังวลว่าจะอายุสั้น กังวลว่าจะไม่เจอรักแท้ โดนหลอกลวงเรื่องความรัก ซึ่งความกังวลเหล่านี้ไม่ถูกอธิบายหรือคลี่คลายออกมาบนฐานของความเข้าใจในประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศ สิทธิมนุษยชน นำไปสู่ความกลัว

“ความกลัวไม่อยากให้ลูกเป็นกะเทยหรือสาวประเภทสอง ทำให้ต้องพาลูกไปบวช พาไปพบจิตแพทย์ ห้ามแต่งกายต่าง ๆ นานา การกระทำดังกล่าวมาจากความรักและความปรารถนาดี แต่ขาดความรู้และความเข้าใจ จึงอยากจะให้ครอบครัวที่กำลังมีคำถาม มีข้อสงสัยว่าตัวเองเป็นเพศอะไรมองว่า

ไม่ต้องหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เพราะเราไม่สามารถหาสาเหตุได้ ไม่ต้องหาคนผิด เรื่องแบบนี้ไม่มีใครผิด
เด็กและเยาวชนไม่ได้มีแค่เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ไม่ใช่เรื่องความผิดปกติทางจิต ไม่ใช่เวรกรรม ไม่ใช่บาปกรรมจากชาติก่อน หากเราเข้าใจตรงจุดนี้จะทำให้เรายอมรับครอบครัวได้มากขึ้น” คุณโน๊ต กล่าวด้วยรอยยิ้ม

“หากในวันนั้นโน๊ตเลือกที่จะไปอยู่เลขห้า หรือเลขศูนย์ ในสภาวะที่กดดัน วันนี้เราคงไม่ได้มาคุยกัน ปัจจุบันโน๊ตเลือกที่จะลบเส้นนั้นออกจากหัวใจ เพราะมันทำให้เรามีความสุขในชีวิตมากขึ้น ภาคภูมิใจในความเป็นกะเทย ภาคภูมิใจในความเป็นเพศของเรามากขึ้น”

คุณโน๊ตถามทิ้งท้ายว่า “แล้วทุกคนล่ะคะ อยู่ตรงจุดไหนของเส้น หากเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ เลือกที่จะอยู่ตรงเลข สาม ห้า หรือแปด คุณจะยอมรับเขาได้ไหม? ถ้าหากไม่มีเส้นของความเป็นเพศนี้อยู่เลย เราจะยอมรับกันได้ไหม?”

เรื่องโดย : ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย สสส.