หยุดความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับไอโอดีน

24
ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

ในวันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ ซึ่ง “สารไอโอดีน” นี้มีความสำคัญต่อทุกช่วงวัย หากขาดสารไอโอดีนจะส่งผลต่อความบกพร่องด้านพัฒนาการสมอง ทำให้ร่างกายเตี้ย แคระแกรน โดยล่าสุด สสส. – กรมอนามัย  เผยความเชื่อที่ยังผิดๆ เกี่ยวกับไอโอดีน พร้อมเตือนถึงผลกระทบ และความเสี่ยงต่อร่างกาย-สมองทุกวัย   ชี้คนชนบทหรือเขตเมืองมีสิทธิ์กินไอโอดีนไม่พอได้เท่ากัน

นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการบริโภคไอโอดีนซึ่งพบบ่อย ได้แก่ 1) ไอโอดีนขาดแล้วเป็นแค่คอพอก แต่ไม่รู้ว่าส่งผลกระทบต่อไอคิว 2) เด็กเท่านั้นที่ต้องการไอโอดีน ผู้ใหญ่ไม่มีความจำเป็น 3) คนชนบทเท่านั้นที่ขาดไอโอดีน ส่วนคนในเมืองไม่ขาด 4) เกลือทะเลมีไอโอดีน และเพียงพอต่อความต้องการ 5) เกลือไอโอดีนเค็มกว่าเกลือธรรมดา 6) ใช้เกลือไอโอดีนดองผักและทำปลาร้าจะทำให้สีของอาหารไม่สวย 7) กินอาหารทะเลก็ทดแทนเกลือไอโอดีนได้ และ 8) คนไทยน้อยมากที่รู้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสต้องเสริมไอโอดีน

“ร่างกายผู้ใหญ่ต้องการไอโอดีน 150 ไมโครกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับปลาทูนึ่ง 21 ช้อนโต๊ะต่อวัน หญิงตั้งครรภ์มีความจำเป็นต้องได้รับไอโอดีนเพิ่มขึ้นอีก 25 ไมโครกรัม และหญิงให้นมบุตรต้องเพิ่มอีก 50 ไมโครกรัม เพราะหากขาดไอโอดีนจะมีผลต่อไอคิวลูกในท้อง โดยเฉพาะพัฒนาการของสมองในช่วงที่เป็นตัวอ่อนอายุ 8 สัปดาห์ ถึง 3 ปี จะมีสติปัญญาด้อยและมีไอคิวต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 30 จุด ปัจจุบันประชาชนนิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน หากผู้ประกอบการร้านอาหารเลือกใช้เกลือเสริมไอโอดีน ผู้บริโภคจะได้รับสารไอโอดีนที่เพียงพอและเหมาะสม ในวัยผู้ใหญ่ไอโอดีนจะควบคุมการเจริญเติบโต และเมตาบอลิซึมควบคุมการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ เช่น เร่งการสลายไขมัน เร่งการสลายไกลโคเจน มีผลต่อการสร้างพลังงาน และอุณหภูมิของร่างกาย หากขาดไอโอดีนจะมีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ เกิดอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยชา ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งเป็นได้ทั้งคนในชนบทหรือเขตเมือง หากเป็นคนที่อาศัยในพื้นที่สูงห่างไกลทะเล ยิ่งเข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีนที่เพียงพอได้น้อย” ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าว

แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการส่งเสริมด้านโภชนาการอย่างเข้มข้น รณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้และเกิดความตระหนัก เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคที่เหมาะสม ทั้งสร้างสื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง พัฒนาข้อมูลวิชาการเพื่อใช้ขับเคลื่อนมาตรการด้านอาหาร โดยแนะนำให้บริโภคไอโอดีนให้เพียงพอ และควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือที่ใช้ปรุงอาหารไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้