คนไทยเป็นโสดกันมากขึ้น จากจำนวนการแต่งงานที่ลดลงและการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น อีไอซีได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าของกรมการปกครองพบว่า จำนวนการจดทะเบียนสมรสของคนไทยลดลง
จาก 3.13 แสนในปี 2550 มาอยู่ที่ 2.98 แสนในปี 2560 (ลดลง 5.1%) สวนทางกับจำนวนการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้นจาก 1.02 แสน มาเป็น 1.22 แสน (เพิ่มขึ้น 19.7%) ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเมื่อพิจารณาแยกตามภูมิภาคพบว่า การจดทะเบียนสมรสที่ลดลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ใต้ อีสาน แต่กลับเพิ่มขึ้นในกรุงเทพมหานครและภาคกลาง ส่วนการจดทะเบียนหย่านั้นมีการเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ทั้งนี้ในช่วงระหว่างปี 2550 ถึง 2560 ไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นราว 3 ล้านคน การแต่งงานที่ลดลงและการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นจึงหมายถึงจำนวนคนโสดที่มากขึ้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาข้อมูลด้านการใช้จ่ายและสินทรัพย์พบว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนโสดและคนมีครอบครัวมีความแตกต่างกันในหลายด้าน
คนโสดใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมากกว่า แต่มีทรัพย์สินน้อยกว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ ปี 2561 คนโสด (นับเฉพาะคนที่อายุเกิน 20 ปีซึ่งเป็นเกณฑ์อายุที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายและนับรวมคนที่หย่าแล้ว) มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อหัวมากกว่าคนมีครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 11% โดยคนโสดมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อรายได้ที่สูงกว่าเล็กน้อย แต่คนมีครอบครัวจะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ที่สูงกว่า
สอดคล้องกับข้อมูลด้านสินทรัพย์ ได้แก่ บ้านและรถ ที่พบว่า คนโสดมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของบ้านและรถน้อยกว่าคนมีครอบครัวในทุกระดับอายุ เช่น ในช่วงอายุ 31-35 ปี มีคนโสดเพียง 18% ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ขณะที่คนมีครอบครัวในช่วงเดียวกันมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 51% เป็นต้น สะท้อนถึงการที่คนโสดอาจมีความจำเป็นในการมีบ้าน-รถที่น้อยกว่า อย่างไรก็ดี เมื่ออายุมากขึ้นสัดส่วนความเป็นเจ้าของทั้งบ้านและรถจะเพิ่มขึ้นในทั้งสองกลุ่ม ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายจ่ายรวมทั้งเพื่อการบริโภคและรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้แล้ว จะพบว่า สัดส่วนภาระรายจ่ายของคนมีครอบครัวจะสูงกว่าคนโสด
คนโสดใช้จ่ายมากกว่าด้านการทานอาหารนอกบ้าน และด้านการท่องเที่ยว เมื่อพิจารณารายจ่ายต่อหัวตามประเภทการใช้จ่ายจะพบความแตกต่างระหว่างคนโสดและคนมีครอบครัว ดังนี้
• รายจ่ายด้านอาหาร : คนโสดมีการใช้จ่ายที่มากกว่าในด้านอาหารราว 12% เพราะคนโสดจะทานอาหารนอกบ้านมากกว่า โดยรายจ่ายค่าทานอาหารนอกบ้านคิดเป็นถึงครึ่งหนึ่งของรายจ่ายด้านอาหารทั้งหมด ขณะที่ คนมีครอบครัวใช้จ่ายเพื่อการทานข้าวนอกบ้านเพียงแค่ 1 ใน 3 ของรายจ่ายด้านอาหารทั้งหมด
• รายจ่ายด้านการเดินทาง : ในส่วนของค่าน้ำมันรถนั้น เมื่อนับเฉพาะคนที่มีรถเป็นของตนเองพบว่า คนโสดจ่ายค่าน้ำมันต่อคนสูงกว่าคนมีครอบครัว 4% ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะคนมีครอบครัวสามารถใช้รถร่วมกันจึงมีแนวโน้มแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ระหว่างกันได้ นอกจากนี้ ในส่วนของค่าเดินทางสาธารณะ คนโสดก็ใช้จ่ายสูงกว่าเช่นกัน โดยมีรายจ่ายในส่วนนี้สูงกว่าคนมีครอบครัวถึง 42%
• รายจ่ายด้านการท่องเที่ยวและความบันเทิง : คนโสดมีการใช้จ่ายต่อหัวด้านการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศสูงกว่าคนมีครอบครัวค่อนข้างมากถึง 40% สำหรับรายจ่ายด้านกิจกรรมความบันเทิงอื่น ๆ เช่น ดูหนัง เลี้ยงสัตว์ กิจกรรมทางศาสนา ฯลฯ คนโสดเองก็มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าประมาณ 5%
• รายจ่ายด้านสุขภาพ : ซึ่งรวมถึงค่าซื้อยา ค่าตรวจสุขภาพในด้านต่าง ๆ ค่าโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสุขภาพ ฯลฯ คนมีครอบครัวจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงกว่าในทุกระดับอายุถึงประมาณ 48% สะท้อนทั้งในเรื่องของความใส่ใจสุขภาพของ คนมีครอบครัวที่น่าจะมากกว่าและการมีค่าใช้จ่ายที่มีเฉพาะสำหรับคนมีครอบครัว เช่น ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของลูก เป็นต้น
โดย : Economic Intelligence Center – TeamData ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน