เปิดผลสำรวจด้านมืดในโลกออนไลน์ ดูหมิ่น เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชังใน Youtube 78.5% Facebook 37.6% ส่งผลกระทบต่อจิตใจเยาวชน 42% สสส. ผนึก 5 องค์กร ต่อต้าน Fake News ก่อนสังคมแตกแยก!
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สถาบัน ChangeFusion ศูนย์นโยบายดิจิทัลแห่งอาเซียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน Friedrich Naumann Foundation for Freedom และ Center for Humanitarian Dialogue (CHD) จัดเวทีเสวนานักคิดดิจิทัล (Digital Thinkers Forum) หัวข้อ “แพลทฟอร์มสื่อดิจิทัลกับการรับมือข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดในโลกออนไลน์” เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อน และร่วมสร้างกลไกเฝ้าระวังข่าวลวงโดยภาคประชาชน สืบเนื่องจากงาน “International Conference on Fake News” ที่ได้มีการลงนามร่วมประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส. ร่วมขับเคลื่อนและร่วมสร้างกลไกการรับมือและต้านข่าวลวงโดยมุ่งเน้นการพัฒนา “คน” ทุกวัยสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ตื่นรู้ มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ มีวิจารณญาณในการเลือกสรร ตรวจสอบ กลั่นกรองแหล่งที่มา และร่วมกันเฝ้าระวังข่าวลวงผ่าน 4 กลไกหลัก คือ 1) ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ และมีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือดูแลตนเองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสุขภาวะที่ดี 2) การสนับสนุนให้เกิดกลไกตรวจสอบและเฝ้าระวังข่าวลวงโดยภาคประชาชน 3) การพัฒนาองค์ความรู้งานวิจัยเชิงลึกอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาข่าวลวงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของสังคมไทย และ 4) สื่อสารสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงปัญหาข่าวลวงที่พลเมืองในสังคมต้องร่วมกันเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวัง และสื่อสารด้วยความรับผิดชอบ
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า สถิติการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังในสื่อสังคมออนไลน์ โดยศูนย์นโยบายสื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ระดับความรุนแรงจากการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อประชาชนโดยการกล่าวหา พูดดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำให้ขบขัน ผ่าน youtube 78.5% เว็บบอร์ด 53% Facebook 37.6% และส่งผลกระทบต่อเยาวชนสูงถึง 42% โดยการจัดการกับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง คือ
1) รายงานการพบเห็นการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังทางออนไลน์ไปยังผู้ดูแลเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์นั้นๆ เพื่อส่งสัญญาณไปยังผู้โพสต์ว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นที่ต้อนรับในสังคม 2) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยการสนับสนุนแนวทางการสื่อสารที่สร้างสรรค์ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ สร้างเครื่องมือที่ช่วยให้ความรู้ความเข้าใจในแนวคิดการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ภายในงานมีผู้แทนภาคีเครือข่าย นักวิชาการ นักวิชาชีพ ในประเทศไทย เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “บทบาทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ในการรับมือข่าวลวง บทเรียนจากสากลสู่สังคมไทย” และ หัวข้อ “สังคมควรใช้เทคโนโลยีสู้กับข่าวลวง ความเกลียดชัง และด้านมืดยุคดิจิทัลอย่างไร”