รักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาตั้งแต่แรกเริ่ม ให้ผลลัพธ์ที่มากกว่าแค่หายเจ็บ

27

การเล่นกีฬา หรือ การออกกำลังกายที่ถูกต้อง คือต้องให้กล้ามเนื้อหลักๆ หรือกล้ามเนื้อชุดใหญ่ได้เคลื่อนไหว เช่น กล้ามเนื้อ แขน ขา เป้าหมายก็เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ทำงาน เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

แต่บางครั้งก็อาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้จากเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ซึ่งการบาดเจ็บเหล่านี้ควรได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน จนอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ซึ่งจะมีผลกระทบกับร่างกายในระยะยาวได้

น.ท.นพ.พรเทพ ม้ามณี

น.ท.นพ.พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ การผ่าตัดผ่านกล้องและเวชศาสตร์การกีฬา ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมของผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา ที่มาเข้ารับการรักษาส่วนใหญ่ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลักๆ คือ 1.กลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บแล้วต้องได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับกีฬา หรือTreatment เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้เข้ารับการรักษา

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา ไปจนถึงการผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น 2.กลุ่มที่ยังไม่มีอาการบาดเจ็บ แต่อยากทราบเรื่องของการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ หรือ prevention วิธีป้องกันก่อนที่จะบาดเจ็บ เช่น คนที่เล่นกีฬาอยู่เป็นประจำ เช่น กีฬากอล์ฟ กีฬาวิ่ง เพื่อเป็นการตรวจร่างกายดูว่าจะสามารถเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ ต่อไปด้วยวิธีเดิมๆ ได้หรือไม่ เช่น การตีกอล์ฟด้วยวงสวิงเดิมๆ เป็นต้น

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ 1.กีฬาประเภทที่มีการปะทะ หรือ contact sport เช่น บาส ฟุตบอล รักบี้ สาเหตุของการบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากการปะทะ การชนกัน จนแขน ขา ข้อ เอ็น เกิดการบิด หัก หรือฉีกขาด เป็นต้น

2.กีฬาประเภทที่ไม่มีการปะทะ หรือ non-contact sport เช่น กอล์ฟ แบดมินตัน เทนนิส ว่ายน้ำ วิ่ง เป็นต้น การบาดเจ็บมักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ตึงไม่ยืดหยุ่นหรือไม่มีความแข็งแรง ทำให้เข่าเกิดการบาดเจ็บ แต่มักเป็นการบาดเจ็บแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือสะสม เช่น กีฬากอล์ฟ การตีวงสวิงเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับร้อยๆ ครั้ง ก็ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้

ซึ่งการเล่นกีฬาในรูปแบบนี้มักเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเป็นอันดับหนึ่ง เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีกขาด ตามด้วยเอ็น และกระดูกเป็นอันดับสุดท้าย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การรักษาอาการบาดเจ็บในกีฬาแต่ละประเภท มีความแตกต่างกัน

แนวทางการรักษา สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกัน(Prevention) เป็นการเตรียมตัวเพื่อปัองกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของตัวผู้เล่นเอง เช่น มีกล้ามเนื้อยืดหยุ่นดี เพราะทำให้เวลาเล่นกีฬา จะเกิดการบาดเจ็บน้อยลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในแต่ละมัดที่ใช้งาน เพราะการใช้งานมัดกล้ามเนื้อซ้ำไปซ้ำมาในระหว่างที่แข่งขัน หรือเล่นกีฬา อาจทำให้เกิดการฉีกขาด หรือเกิดการบาดเจ็บเกิดขึ้นได้

นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นกีฬาต่างๆ ก็มีส่วนในการช่วยป้องกันการบาดเจ็บอีกทางหนึ่งคือ อุปกรณ์ ที่ใช้ในการเล่นต้องได้มาตรฐาน ยกตัวอย่างกีฬาฟุตบอลซึ่งต้องมีการปะทะกันของผู้เล่น (contact sport)

ถึงแม้ว่าความพร้อมร่างกายของตัวเอง รวมถึงอุปกรณ์เรียบร้อยดีแล้ว ยังมีปัจจัยที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขัน เช่น กีฬาฟุตบอลจะมีกฎคือ FIFA 11+ ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องปฏิบัติตาม คือการวอร์มร่างกายต่างๆ ใน 10 หัวข้อ และบวกอีก 1 ข้อที่สำคัญ fair play คือ ผู้เล่นแต่ละฝ่ายต้องไม่จ้องทำร้ายฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ร่วมแข่งขัน จนทำให้บาดเจ็บ ส่วนกีฬาแบบ non-contact sport ควรระวังในเรื่องปัจจัยภาวะแวดล้อมภายนอก ได้แก่ สถานที่ สภาพอากาศ เช่น การวิ่งใกล้กับสถานที่ที่มีมลพิษ หรือวิ่งในขณะที่อากาศร้อนเกินไป อาจทำให้เป็นฮีทสโตรก (Heatstroke) ได้ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ เช่น รองเท้าวิ่งที่ไม่ได้คุณภาพอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บฝ่าเท้า พื้นที่แข็งทำให้หัวเข่าเกิดการบาดเจ็บได้

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การเข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ เนื่องจากปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลการรักษาไม่ยากเหมือนในอดีต เมื่อตระหนักว่าร่างกายเราเริ่มมีปัญหา ก็ควรไปเข้ารับการตรวจรักษา หรือบางคนชอบออกกำลังกายอยู่แล้วและยังไม่มีอาการบาดเจ็บ แต่อยากจะเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ ให้ได้ดี อยากจะขอรับคำแนะนำจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันแบบนี้ก็สามารถทำได้

ซึ่งการขอคำแนะนำ ปรึกษา เพื่อป้องกันในเรื่องการออกกำลังกาย ถือเป็นความจำเป็น เพราะการป้องกันดีกว่ารักษา (prevention is it better than treat) ประกอบด้วย Fit for play การตรวจสภาพความพร้อมในการเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ ซึ่งสามารถมาตรวจได้เรื่อยๆ เหมาะกับคนทั่วไปที่ออกกำลังกายแต่ไม่ได้เล่นกีฬาเป็นอาชีพ และ Fit for performance ที่มีหลักการตรวจคล้ายกันเพียงแต่อาจลงรายละเอียดในการตรวจแบบเจาะลึกขึ้น ซึ่งการตรวจเช็กแบบนี้เหมาะกับนักกีฬาอาชีพที่จะมาตรวจกันปีละ 1 ครั้ง

ปัจจุบันสามารถวิเคราะห์รูปแบบการเล่นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บได้ เช่น การเล่นกอล์ฟในหนึ่งวงสวิง ตั้งแต่เงื้อไม้จนถึงตีลูกจะใช้กล้ามเนื้อมัดไหนได้บ้าง ก็จะมุ่งไปที่กล้ามเนื้อมัดนั้น เพื่อที่จะเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรง ถือเป็นวิทยาการที่มีความก้าวหน้าในการวิเคราะห์แต่ละชนิดกีฬา วิเคราะห์แต่ละบุคคล ในแบบที่เรียกว่า custom made

การผ่าตัดรักษาในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างมาก ในคนที่เป็นนักกีฬาอาชีพหากกลับมาเล่นช้าหรือบาดเจ็บนานอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพได้ ซึ่งในอดีตใช้การผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้างเพื่อทำการรักษา แต่ปัจจุบันใช้รูปแบบของการผ่าตัดแผลเล็ก หรือใช้เลเซอร์ในการรักษาพุ่งเป้าไปยังจุดที่เกิดปัญหาได้โดยตรง ลดการกระทบกระเทือนและลดการบาดเจ็บของอวัยวะที่อยู่โดยรอบ ทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว

บางคนอาจกลัวการผ่าตัดว่าหากผ่าแล้วอาจกลับมาไม่เหมือนเดิม แต่การผ่าตัดเป็นกระบวนการหนึ่งของการรักษา เหมือนเวลาที่ไม่สบายแล้วต้องรับประทานยา เพียงแต่ในบางโรคหรือการบาดเจ็บเรื้อรังบางอาการไม่สามารถที่จะกินยาอย่างเดียวแล้วหายหรือทำกายภาพอย่างเดียวแล้วหายได้ ต้องอาศัยการผ่าตัด จึงอยากให้มองว่าการผ่าตัดเป็นเพียงการรักษารูปแบบหนึ่งเท่านั้น

ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้อง แบบแผลเล็ก บาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery : MIS) แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย โอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดต่ำ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ในการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การดูแลโดยทีมสหสาขา แพทย์ที่มีความชำนาญร่วมกับประสบการณ์การรักษา อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักเวชศาสตร์การกีฬา ซึ่งอันดับสุดท้ายถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่รักษาอาการบาดเจ็บให้ดีขึ้น แต่ต้องรักษาให้นักกีฬาสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ดีดังเดิม (return to play / return to sport) รวมถึงกลับมาเล่นกีฬาอาชีพได้อีกครั้ง (return to competitive level)